ที่นี่ ศรีสะเกษ
วัดเขียนบูรพาราม
ตำแหน่งพิกัด GPS : N14.71608° E104.20605°
วัดเขียนบูรพาราม ตั้งอยู่บ้านพราน ม. 4 ต.ห้วยเหนือ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ห่างจากที่ว่าการ อำเภอขุขันธ์ไปทางทิศตะวันออก ระยะทาง 400 เมตร ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ 49 กิโลเมตร
วัดเขียนบูรพาราม เดิมชื่อ "วัดเขมร" แต่คนทั่วไปนิยมเรียกวัดนี้ว่า "วัดเขียน" ซึ่งเป็น สำเนียง ที่เพี้ยนไปจากคำว่า "เขมร" นั่นเอง เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเมืองขุขันธ์ หรืออำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน เมื่อมีการ ตั้งชื่อวัดเป็นทางราชการ จึงเปลี่ยนเป็น "วัดเขียนบูรพาราม"
เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ สัณนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ไม่ปรากฎนามผู้สร้าง จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2323 พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน คนที่ 2 (เชียงขัน) พร้อมด้วยกรมการเมืองได้นำราษฎรอพยพไปตั้งเมืองใหม่ ณ ตำแหน่งบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านตะแบกบ้านพราน ในปัจจุบัน ระหว่างที่ทำการถางป่าในบริเวณที่เป็นที่ตั้งวัดเขียนนั้น ก็ได้พบก้อนหินสีแดงโผล่ขึ้นบนจอมปลวก มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป ท่านเจ้าเมืองจึงได้บัญชาการให้ราษฎรตกแต่งพื้นที่บริเวณนั้น เสริมฐานแล้วสร้างเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่สวมทับลงบนจอมปลวกนั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีพุทธลักษณะงดงาม เข้าใจว่าสร้างไว้กลางแจ้ง เป็นพระเจ้าใหญ่ประจำเมือง รอบๆองค์พระคงจะสร้างเป็นวัด นิมนต์พระเณรมาอยู่ แต่คงจะยังไม่เรียบร้อยดีนัก ก็จัดการอพยพเมืองใหม่ไปตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งตรงบ้านแตระบ้านหาดในปัจจุบัน เนื่องจากที่เดิมห่างไกลแหล่งน้ำเกินไป ทำให้วัดพระเจ้าใหญ่เสื่อมโทรมและร้างไป จนบริเวณพระพุทธรูปพระเจ้าใหญ่กลายเป็นป่าทึบมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นเพราะขาดคนเอาใจใส่ จนถึงกับมีเรื่องเล่าว่า สภาพป่าดงที่ขึ้นรกทึบมากถึงขนาดกับมีเสือท้องแก่มาคลอดลูกบนหน้าตักท่าน ต่อมาพระหลักคำอุด พระหลักคำประจำเมืองได้มาพบแล้วเกิดศรัทธา จึงชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันบูรณะวัดร้างนั้นขึ้น แล้วสร้างพระอุโบสถคร่อมองค์พระพุทธรูป กาลเวลาผ่านไปได้มีคนใจร้ายใจบาปไปแกะเอาแก้วพระเนตรของพระพุทธรูปทั้งสองข้างไป ด้วยอำนาจพระบารมีอันศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพุทธรูปทำให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้ยินเสียงร้องก้องไปทั้งป่า ครั้นรุ่งเช้าชาวบ้านได้ไปหาข้อเท็จจริงจึงทราบว่า ดวงพระเนตรขององค์พระพุทธรูปถูกขโมยไป ท่านจึงได้บันดาลให้เกิดเสียงดังขึ้น เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวให้ชาวบ้านทราบ
ต่อมาประมาณปี 2325 เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ 3 คือ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) ได้จัดการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ ด้วยการก่ออิฐหุ้มองค์เดิม สร้างฐานให้สูงขึ้น ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า "หลวงพ่อโต" มาแต่บัดนั้น และนับว่าเป็นการบูรณะครั้งแรก
การบูรณะครั้งที่ 2 ทำขึ้นในปี 2471 เป็นการบูรณะซ่อมแซมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยได้ทำการจ้างช่างญวณทำการก่ออิฐถือปูนหุ้มพระพุทธรูปองเดิมให้ใหญ่ขึ้นอีก จนมีขนาดเท่ากับองค์ปัจจุบัน คือ มีหน้าตักกว้าง 3.65 เมตร สูงจากฐานถึงยอดพระเมาลี 7.46 เมตร แล้วรื้อโรงหลังคาเก่าออก ทำการก่อสร้างใหม่โดยสร้างเป็นสิมทึบ(คำอธิบายความที่กรมศิลปกรกำหนด) ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 12.76 เมตร ยาว 20 เมตร จำนวน 5 ห้อง ตั้งอยู่บนฐานลูกแก้วลูกแก้วขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาทรงจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น หลังคาชั้นลดต่อจากคอสองทำเป็นแบบปั้นหยาตลอดทั้ง 4 ด้าน ส่วนประดับหลังคาประกอบด้วยโหง่ไม้ ไม่มีช่อฟ้า ลำยองเป็นไม้ ส่วนบนทำเป็นระกา ส่วนล่างแกะสลักลวดลายกนกเครือวัลย์ หางหงส์ทำเป็นรูปหัวพญานาค หน้าจั่วเป็นแผ่นไม้กระดานตีทางตั้งแกะสลักลวดลายไทยเรื่องรามเกียรติ์ ผนังเจาะช่องประตู กรอบและซุ้มเรือนแก้วปูนปั้น ใต้ขื่อและหัวเสาทำเป็นบัว
ส่วนองค์พระเจดีย์ธาตุ เป็นรูปแบบศิลปอีสานตั้งอยู่มุมพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน สามารถเห็นรูปแบบชัดเจน 2 องค์ เฉพาะที่อยู่ด้านหน้า ส่วนอีก 2 องค์ด้านหลังนั้นพังทลายเป็นซากโบราณสถาน(มูลดิน) ที่ไม่เหลือเค้าโครงเดิมไว้เลย
การบูรณะครั้งที่ 3 ปรากฎหลักฐานบนผนังอุโบสถด้านหน้าโดยปรากฎข้อความบนผนังปูนที่ทำเป็นแผ่นป้ายติดไว้ว่า นางมุยนิม แซ่กิม บริจาคทรัพย์ 20,000 บาท ทำการปฏิสังขรณ์ พ.ศ.2497 แต่ไม่มีรายละเอียดระบุไว้ เข้าใจว่าคงจะเป็นการซ่อมตัวองค์อุโบสถมากกว่าองค์หลวงพ่อโต
ต่อมาวัดเขียนบูรพารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุของกรมศิลปากร โดยประกาศ ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2532 และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 107 ตอนที่ 16 วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2533 แล้วก็ไม่มีการบูรณะอีกเลยเป็นเวลานานถึง 47 ปี
การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 4 ในระหว่างปี พ.ศ.2544-2545 มีการส่งเรื่องของบประมาณในการบูรณะจากทางราชการแต่ไม่ผ่านกรรมการกลั่นกรอง ภาคเอกชนจึงจัดหาเงินซ่อมเอง โดยทางกรมศิลปากรจะช่วยดูแลเรื่องแบบแปลนให้
มีการเปลี่ยนเครื่องหลังคาและเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาเป็นกระเบื้องลอนเล็กสีขาว(มีลักษณะคล้ายสังกะสี) ดาดฝ้าเพดานด้วยตราด ไม้สะแบง จำนวนกว่า 1,000 1แผ่น เหนือบริเวณพระเมาลีของหลวงพ่อโตได้ขออนุญาตกรมศิลปากรเป็นกรณีพิเศษ ขอบุพื้นเพดานสี่เหลี่ยมขนาด 3.5 x 6 เมตร ลึกขึ้นไป 2 ชั้น โดยรอบปริมณฑลเพื่อความเหมาะสมสวยงาม เนื่องจากแบบแปลนเดิมนั้นเป็นการบุฝ้าเพดานตามแนวนอนตรงพื้นระนาบเสมอกันทุกด้าน ทำให้ยอดพระเมาลีติดฝ้าเพดานพอดี มองดูเหมือนยอดพระเมาลีของหลวงพ่อโตค้ำเพดานไว้ดูไม่เหมาะสม ซึ่งทางกรมศิลปากรยอมอนุโลมให้ตามคำขอ ฝ้าเพดานทาด้วยสีแดงเข้ม
พื้นพระอุโบสถเดิมเป็นพื้นคอนกรีต ขออนุญาตปูใหม่ด้วยไม้ ลงพื้นเคลือบเงาด้วยน้ำมันยูนิเทนชนิดทาภายนอกเพื่อความคงทนและสวยงาม
เปลี่ยนเสาพระอุโบสถด้วยไม้พันชาด จำนวน 8 ต้น เสาระเบียงด้านหน้า 4 ต้น เป็นไม้แต้ เปลี่ยนวงกบและบานประตูหน้าต่างใหม่ เป็นไม้พันชาดกับประดู่ แกะสลักลายไทยด้านนอกทาสีน้ำ ด้านในเคลือบน้ำยายูนิเทนวงกบสีน้ำตาลเข้ม
ระเบียงด้านหน้าและบันไดขึ้นลงทุกด้านปูพื้นด้วยเซรามิค ราวบันไดทำเป็นพญานาคในลักษณะเลื้อยลงทุกด้าน บันไดด้านหน้าพญานาคพันกระหวัดเสาระเบียงทั้ง 2 ด้าน ทาสีผนังและซุ้มประตูตามโทนสีเดิมทุกประการ ยกเว้นฝ้าเพดานระเบียงหน้าพระอุโบสถทาสีน้ำมันเป็นสีน้ำตาลทอง
หลวงพ่อโต วัดเขียนบูรพาราม
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3.50 เมตร สูง 6.80 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่โตและศักดิ์สิทธิ์มากองค์หนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวขุขันธ์ที่สืบทอดเป็นมรดกมานับร้อยปี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดเขียนบูรพาราม อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อโตนั้นเป็นที่ร่ำลือมาแต่โบราณ ประชาชนทั่วไปทั้งใกล้ไกลที่มีปัญหามีความทุกข์หรือปราถนาสิ่งใดที่เกินกำลังความสามารถของตนเองจะจัดทำให้เป็นผลสำเร็จได้ ก็จะหันมาพึ่งพระบารมีองค์หลวงพ่อโต ขอพรให้ท่านช่วยบำบัดปัดเป่าให้ ในกรณีที่ประสบเคราะห์กรรม ความยุ่งยาก หรือเจ็บไข้ได้ป่วย หรือบางรายก็จะขอให้ท่านช่วยดลบันดาลให้ได้สัมฤทธิ์ผลในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามในรูปแบบต่างๆ หรือบางท่านก็จะขอบุตราบุตรีที่ต้องการ และเมื่อสัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งจิตถวายสัจจะขอพรแล้ว ก็จะพากันไปกราบไหว้ เพื่อบูชาพระคุณตามที่ได้ตั้งเงื่อนไขถวายสัจจะไว้ เป็นการแก้บนเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป ดังนั้นจึงปรากฎว่ามีประชาชนแวะเวียนไปกราบไหว้ขอพรอยู่เสมอมิได้ขาด แต่มีข้อน่าสังเกตและพึงสังวรณ์อย่างยิ่งว่า ขอพรหรือบนบานจะต้องรักษาสัจจะอย่างยิ่งยวด จะทำละเลยไม่ได้เป็นอันขาด หากว่าท่านผู้ใดทำเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตนเองได้ลั่นวาจาไว้ต่อหน้าพระพักตร์องค์หลวง่อโตแล้วไซร้ มิช้ามินานมักจะทำให้ตนเองและครอบครัวประสบความยุ่งยากเดือดร้อนหรือประสบภัยพิบัติโดยไม่คาดฝัน ทั้งนี้มิใช่เป็นเพราะองค์หลวงพ่อโตทำโทษก็หามิได้ แต่หากเป็นเพราะคำพูดที่กล่าวเงื่อนไขไว้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นในการขอพรหลวงพ่อโตจึงควรระมัดระวังพึงหลีกเลี่ยงคำพูดที่จะผูกมัดตัวเองในสิ่งที่เกินความสามารถ การตั้งเงื่อนไขควรพิจารณาในสิ่งที่ตนจะสามารถทำได้จริงๆและไม่ยากเกินไป แล้วจัดทำตามที่ถวายสัจจะไว้แล้วจะมีแต่ความเป็นสิริมงคล จะประกอบกิจการใดก็ลื่นไหลคล่องตัวไม่ติดขัด เจริญรุ่งเรืองไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความศรัทธาอันบริสุทธิ์ด้วย
เรียบเรียงจากบทความเรื่อง ประวัติหลวงพ่อโตวัดเขียน ของ พระราชวรรณเทวี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ
ภาพถ่ายประกอบโดย : สุวิวัฒน์ หงษ์สมบัติ