ที่นี่ ศรีสะเกษ
หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอ
ตำแหน่งพิกัด GPS : 14.829561° 104.370545°
พระครูประสาธน์ขันธคุณ (หลวงพ่อมุม อินทปญโญ) นามสกุล บุญโญ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2429 ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เกิด ณ บ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ (เดิมเป็นจังหวัดขุขันธ์) บิดามารดาเป็นชาวนา ชาวไร่ ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีที่วัดเป็นส่วนใหญ่
โยมบิดา ชื่อ มาก บุญโญ โยมมารดาชื่อ อิ่ม บุญโญ มีพี่น้องที่ถือกำเนิดร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 2 คน
พระครูประสาธน์ขันธคุณ บรรพชาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2441 อายุ 12 ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมีอาจารย์พิมพ์ เป็นผู้บวชให้
พระครูประสาธน์ขันธคุณ อุปสมบถเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2449 อายุ 20 ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมีเจ้าอธิการปริม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพรหมมา วัดสำโรงระวี เป็นกรรมวาจารย์ พระอธิการทอง วัดไพรบึง เป็นอนุสาวนาจารย์
ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ เด็กชายมุม ชอบเข้าวัดไปพูดคุยกับพระ กับเณร จนคุ้นเคย พระกับเณรเลยจับเด็กชายมุมให้เข้าโบสถ์ไปนั่งฟังพระสวดมนต์ทำวัตร ต่อมาเวลาพระมีเทศนาหรือทำวัตรเย็นเด็กชายมุมที่อายุ 5-6 ขวบนั้นจึงนั่งพนมมือฟังเป็นประจำ ท่านเจ้าอาวาสปีนั้นชื่อ อาจารย์พิมพ์ ท่านได้เห็นเด็กชายมุม อยากเป็นพระนัก ครั้นบิดาก็นำมาฝากไว้ที่วัดเป็นประจำเพื่อศึกษาเล่าเรียนแบบโบราณ เพราะขณะนั้นไม่มีโรงเรียน ท่านเห็นหน่วยก้านปฏิญาณไหวพริบเฉลียวฉลาด เลยได้สอนทั้งภาษาไทยและภาษาขอม รวมทั้งให้เขียนพร้อมกันกับพระภิกษุสามเณรในวัด จนเด็กชายมุมได้มีความชำนาญในภาษาขอมและบาลีเป็นอย่างดี และได้เอาใจใส่เล่าเรียนแตกฉานรวดเร็วกว่าเพื่อนๆด้วยกัน
ต่อมาเมื่ออายุได้ 12 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโดยอาจารย์พิมพ์เป็นผู้บวชให้ เพราะเห็นว่าเด็กชายมุมเป็นเด็กที่ฉลาดและขยันในการเรียน สามเณรมุมได้อยู่รับใช้อาจารย์พิมพ์และศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งวินัยธรรมบทและบาลีไวยากรณ์จนเชี่ยวชาญ ผ่านการเรียนทุกอย่างมาจนหมดสิ้น
เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบถเป็นพระภิกษุ หลวงพ่อมุมก็ได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระปริยัติธรรมกับบาลีไวยากรณ์และพระธรรมบทให้สูงขึ้นจนจบหลักสูตร และยังได้ศึกษามูลกัจจายนะ คัมภีร์พระไตรปิฎก จนจบ 5 สูตร มีความรู้แตกฉานหาใครเปรียบได้ยากในสมัยนั้น อีกทั้งพระอาจารย์ปริมยังได้ถ่ายทอดพระคัมภีร์ด้านกรรมฐานและคาถาอาคมขลังทางลงเลขยันต์ ลงนะต่างๆให้กับหลวงพ่อมุมด้วย
อุปนิสัยที่รักทางขอมอักขระ อาคม ไสยศาสตร์ ซึ่งแถบถิ่นนั้นศิลปวัฒนธรรมเขมรได้มีอิทธิพลมาช้านาน หลวงพ่อได้รับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์เขมรบ้าง ลาวบ้าง จนมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐานฝึกจิตให้กล้าแข็งมีสมาธิอันแน่วแน่ เพื่อเป็นพลังสื่อนำมาประกอบการใช้คาถาอาคม หลวงพ่อได้เอาใจใส่ฝึกฝนกับพระอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นจนเจนจัดเชี่ยวชาญ โดยท่านเน้นศึกษาเพื่อที่จะนำมาสั่งสอนศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้ที่สนใจอีกด้วย
ครั้นพรรษาของหลวงพ่อมากขึ้นตามลำดับแล้วท่านจึงออกธุดงค์ตามแบบรุกขมูลกับเพื่อนภิกษุด้วยกัน 6 รูป โดยผ่านเมืองขุขันธ์ ค่ำที่ไหนปักกลดจำวัดที่นั่น จนกระทั่งถึงวัดโคกมอญ เมืองกบินทร์บุรี(ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี) และได้พากันจำพรรษาที่วัดนี้ถึง 3 พรรษา ที่วัดโคกมอญนี้หลวงพ่อได้สร้างความเจริญปลูกสร้างปฏิสังขรณ์ไว้มากมาย เช่น สร้างโบสถ์ จากสำนักสงฆ์เล็กกลายเป็นวัดที่เจริญ ขณะนั้นมีพระอุปัชฌาย์โทเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโคกมอญ หลังจากออกพรรษาแล้วท่านจึงธุดงค์กลับบ้านเกิดของท่าน และได้จำวัดอยู่ที่วัดปราสาทเยอเหนือต่อไป
อยู่ได้หลายปีจึงออกธุดงค์เป็นครั้งที่สอง โดยผ่านทางเมืองขุขันธ์ ข้ามภูเขาพนมดงรัก เพื่อมุ่งไปยังเมืองสาเก ในเขตจังหวัดพระตะบอง ประเทศเขมร และได้พบกับอาจารย์บุญมี พระอาจารย์ผู้เรืองวิชา พระอาจารย์บุญมีได้พาหลวงพ่อมุมเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆจนทั่วประเทศเขมร ใช้เวลาในการธุดงค์เป็นแรมๆปีจึงได้แยกกันออกเดินธุดงค์ไปคนละทาง โดยหลวงพ่อมุมได้ผ่านมาทางกบินทร์บุรีข้ามภูเขาสองพี่สองอันเป็นทิวเขาดงพญาไฟ(ปัจจุบันคือดงพญาเย็น) จนกระทั่งมาถึงบ้านหวาย ได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อโฮม ซึ่งเก่งทางว่านสมุนไพร แก้อาถรรพ์ แก้คุณไสยต่างๆ เมื่อศึกษากับหลวงพ่อโฮมจนเป็นที่พอใจแล้วจึงออกธุดงค์ต่อไปอีก โดยผ่านป่าดงดิบไปยังจังหวัดสระบุรี เพื่อกราบสักการะรอยพระพุทธบาท พระพุทธฉาย แล้วล่องมาจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าจำพรรษาอยู่หลายวัด แล้วต่อไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าสู่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ผ่านไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าจังหวัดเลย เมืองลานช้าง เวียงจันทร์ ท่าแขก สุวรรณเขต
ในช่วงที่ท่านธุดงค์มาเรื่อยก็ได้พบกับพระอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้าหลายๆท่าน หลวงพ่อมุมได้ขอศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้วิชาต่างๆมากมายจนได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์ต่างๆให้ไปหา สมเด็จลุน เกจิอาจารย์แห่งประเทศลาว หลวงพ่อมุมจึงธุดงค์ต่อไปยังนครจำปาศักดิ์เพื่อไปหาสมเด็จลุน แต่ต้องผิดหวังเพราะสมเด็จลุนเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี แต่หลวงพ่อมุมก็ได้ตามไปจนพบและฝากตัวเป็นศิษย์ติดตามเข้าไปถึงนครจำปาศักดิ์ และได้ศึกษาความรู้ทางอาคมขลัง เลขยันต์ต่างๆ และสมเด็จลุนท่านก็ได้มอบตำราวิทยาคมไสยเวทย์ต่างๆให้กับหลวงพ่อมุมมาศึกษาเพิ่มเติมจนเป็นผลสำเร็จ
ก่อนจะกลับมาหาพระอาจารย์ดีๆในตัวเมืองอุบลฯระยะหนึ่ง แล้วเดินทางไปยังเมืองขุขันธ์จนถึงบ้านเกิดของท่านอีก และได้มาจำวัดอยู่ที่วัดปราสาทเยอใต้ ขณะนั้นหลวงพ่อมุมก็ได้ศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมกับหลวงพ่อ บุญมา แห่งวัดปราสาทเยอใต้ ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ของท่านอีกองค์หนึ่ง
ในการจารึกธุดงค์ของหลวงพ่อนั้นท่านได้เดินทางเข้าป่าหาวิเวกแสวงธรรมไปตามถ้ำเขาลำเนาไพรจนทั่วเมืองไทย และประเทศใกล้เคียง ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย ใช้เวลาธุดงควัตรอยู่ 10 พรรษา และในแต่ละครั้งหลวงพ่อมุมต้องประสบกับความยากลำบากแทบเอาชีวิตไม่รอด เพราะต้องเดินด้วยเท้าเปล่า บางครั้งต้องเดินผ่านป่าดงดิบนับสิบๆวัน โดยไม่พบหมู่บ้านใครเลย ต้องอาศัยน้ำที่เสกคาถาแล้วดื่มเพื่อประทังความหิวไปได้วันๆเท่านั้น สาเหตุที่หลวงพ่อมีความอดทนอดกลั้นได้นั้น เนื่องจากท่านมีสมาธิจิตที่แข็งกล้า และอาศัยอำนาจพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณอันยึดมั่นอย่างแน่วแน่อยู่เสมอนั่นเอง จึงทำให้ท่านอยู่ได้อย่างสบาย ไม่รู้สึกหิวแต่อย่างใด ทั้งได้รับความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงอีกด้วยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
เมื่อหลวงพ่อปริมเจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือมรณภาพลง และวัดปราสาทเยอเหนือได้ว่างจากเจ้าอาวาสลงเป็นเวลา 5 ปี ประชาชนในหมู่บ้านทราบข่าวว่าหลวงพ่อกลับมาจากธุดงควัตร และพักอยู่วัดปราสาทเยอใต้ จึงได้พร้อมกันไปอาราธนานิมนต์ท่านให้ไปอยู่ประจำ ณ วัดปราสาทเยอเหนือ หลวงพ่อก็ได้สนองศรัทธาของญาติโยม คือรับไปอยู่วัดปราสาทเยอเหนือนั้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ขณะที่ท่านอยู่วัดนั้น สิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นนิจ คือ การเดินจงกลม ทำกรรมฐานและทบทวนวิชาต่างๆในยามว่างจากผู้คน และในสมัยนั้นพระยาขุขันธ์ยังได้นำเอาคัมภีร์สมุดข่อยไปถวายแก่หลวงพ่อมุมอีกด้วย ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บรรจุ วิชาอาคมไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และตำราต่างๆไว้อย่างครบถ้วน
หลวงพ่อมุมเป็นผู้มีอัธยาศัยสุขุม ละเอียด เยือกเย็น เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปราณีต่อผู้อื่นเสมอ หลวงพ่อไม่เคยดุด่าใครทั้งสิ้น หากผู้นั้นกระทำความผิดก็จะพูดเป็นการว่ากล่าวตักเตือนแบบประกอบด้วยเมตตาธรรมเท่านั้น อันความเมตตาปราณีที่เต็มเปี่ยมอยู่ประจำจิตของหลวงพ่อนั้น จึงยังศรัทธาของพระสงฆ์ สามเณร และประชาชนทั้งใกล้และไกลที่ได้ไปกราบไหว้ จึงสมควรได้รับคำว่า "เป็นปูชนียะบุคคล" บุคคลที่ควรกราบไหว้สักการะของปวงชนทั่วไป
นับจากปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา หลวงพ่อมีสุขภาพอ่อนระโหยตามอายุชราภาพ โดยมีอาการอาพาธอยู่บ่อยๆ อาพาธเมื่อใดศิษยานุศิษย์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจทุกทีต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ได้เยียวยารักษา
ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2522 หลวงพ่อได้อาพาธอีกครั้ง ศิษยานุศิษย์ได้นำท่านส่งโรงพยาบาลศรีสะเกษ หลวงพ่อมีอาการไข้สูงเหลือที่แพทย์จะเยียวยารักษาได้ จึงได้สิ้นลมปราณ ละสังขาร เมื่อเวลา 5.20 น.ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2522 ณ โรงพยาบาลศรีสะเกษ สิริรวมอายุได้ 93 ปี 73 พรรษา
คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพของหลวงพ่อตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาการเปรียญวัดปราสาทเยอเหนือ จนครบ 100 วัน จึงได้ปิดการบำเพ็ญกุศล แต่คณะศิษยานุศิษย์มีความปรารถนาจะขอพระราชทานเพลิงศพให้ท่าน จึงได้เลื่อนการจัดงานบำเพ็ญกุศลพระราชทานเพลิงศพมาเป็น วันที่ 28-29 มีนาคม 2524 ณ เมรุชั่วคราววัดปราสาทเยอเหนือ
พระครูประสาธน์ขันธคุณ หรือ หลวงพ่อมุมนั้น หากจะกล่าวถึงอิทธิปาฏิหารย์ในวัตถุมงคลแล้วคงจะกล่าวได้ไม่หมดจากประสบการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ท่านมีความรู้ทางด้านการศึกษาและความรู้วิชาต่างๆ วิชาอักษรขอม หนังสือธรรม และไทยน้อยไทยใหญ่ ตลอดทั้งทางด้านไสยศาสตร์ เวชศาสตร์ และโหราศาสตร์ในการดูฤกษ์งามยามดีช่วยอนุเคราะห์แก่ประชาชน ตลอดจนท่านได้สร้างเหรียญวัตถุมงคลมากมาย เพื่อแจกญาติโยมให้ช่วยสมทบทุนก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่ชาวบ้าน คณะศิษยานุศิษย์ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การจัดสร้างวัตถุมงคลนั้น มีดังนี้
พ.ศ.2507 เหรียญรุ่นแรก เป็นเหรียญรูปไข่หรือที่วงการพระเครื่องเรียกกันว่า ส.หางสั้น และ ส.หางยาว
พ.ศ.2508 เหรียญกลม ถือว่าเป็นเหรียญรุ่นที่ 2 ออกมาเพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยมและชาวบ้านทั่วไป
พ.ศ.2509 วัตถุมงคล รุ่นที่ 3 จัดพิธีขึ้นในโบสถ์ไม้หลังเก่าในวัดปราสาทเยอเหนือ มีเหรียญหลายแบบ พระกริ่งศก.รุ่นแรก แหวนรุ่นแรก ภาพถ่าย รูปหล่อโบราณ รวมทั้งตะกรุดรุ่นแรก ซึ่งมีเกจิอาจารย์ในยุคนั้นร่วมกันปลุกเสก อีกทั้งยังได้จัดสร้างเหรียญหลวงพ่อบุญมา วัดปราสาทเยอใต้ ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อมุมอีกองค์หนึ่งด้วย
พ.ศ.2510 เหรียญเพื่อรำลึกถึงอาจารย์ของท่าน หรือที่เรียกกันว่า เหรียญสองอาจารย์ ด้านหน้าเป็นรูปครึ่งองค์ของหลวงพ่อบุญมา และหลวงพ่อมุม ผ้ายันต์ ฯลฯ พ.ศ.2512 พระชัยวัฒน์หลวงพ่อมุม แท้จริงแล้วถือเป็นพระกริ่งรุ่น 2 ภายหลังจากที่ออกพระกริ่ง ศก.ได้ 3 ปี เหรียญอาร์ม แหวนรุ่น 3 พ.ศ.2514-2515 เหรียญเตารีด เหรียญโลห์ ภ.ป.ร. พระสมเด็จลายเสือ เหรียญเปิดที่ทำการ สภอ.เมืองศรีสะเกษ เหรียญอาร์มหลัง ภ.ป.ร. เหรียญพระราชทานศาลาการเปรียญหรือที่เรียกกันว่า เหรียญหน้าบัน ภ.ป.ร. เหรียญกลมรุ่นพิเศษ ล็อกเก็ต รวมทั้งแหวน ภ.ป.ร. และอีกหลายๆแบบด้วยกัน พ.ศ.2516 พระสมเด็จหลังรูปเหมือน พระสมเด็จหลังหันข้าง พระสมเด็จจัมโบ้ พระสมเด็จประทานพร รูปเหมือนเนื้อว่าน พระผงรูปเหมือน พระผงเนื้อว่าน รูปหล่อบูชา
ในปีนี้เองได้มีทหารนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา(GI) ซึ่งตั้งฐานทัพต่อสู้สงครามเวียดนามอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีได้เห็นทหารไทยที่ห้อยเหรียญหลวงพ่อมุมในช่วงมีสงคราม โดนยิงแต่ไม่เป็นไรเลย กลุ่มทหารนาวิกโยธินจึงได้ขอเหรียญดังกล่าวจากทหารไทยไปทดลองยิง ปรากฎว่ายิงไม่ออกจึงเกิดความศรัทธาต่อหลวงพ่อมุม และได้มาขอจัดสร้างวัตถุมงคล แล้วให้หลวงพ่อมุมปลุกเสกที่วัดปราสาทเยอเหนือ
ว่ากันว่าเสร็จพิธีกลุ่มนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาขอทดลองยิงหลังวัดกันเลย แต่ยิงไม่ออก มีทั้งเหรียญภาษาอังกฤษ PAPAMUM สมเด็จภาษาอังกฤษและพระเนื้อผงพิมพ์จันทร์ลอยภาษาอังกฤษ
พ.ศ.2517 จัดสร้างโดยพระอาจารย์ฟื้น ธมมวโร(สุพัฒนิยกุล) วัดอิทรวิหาร กรุงเทพมหานคร ร่วมกับทุนนิธิประสาธน์ขันธคุณ วัตถุประสงค์เพื่อบูรณะวัดปราสาทเยอเหนือและจัดสร้างหอระฆัง อีกส่วนหนึ่งจะจัดสร้างกำแพงรอบอุโบสถที่วัดสามัคคีพัฒนาราม ต.วังชมพู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยหลวงพ่อได้ทำพิธีปลุกเสก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2517 ภายในอุโบสถวัดปราสาทเยอเหนือ แล้วนำมาให้บูชาที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นนั้น มีทั้งเหรียญพิมพ์นักกล้าม(มีบล็อควัดอินทรวิหารที่นำมาให้บูชาที่วัดอินทรวิหาร และบล็อควัดปราสาทเยอเหนือ ซึ่งทางวัดได้แกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ปลุกเสกและนำมาให้บุชาที่วัดปราสาทเยอเหนือ) เหรียญช้างสามเศียร พระผงรูปเหมือน พระผงผสมเส้นเกศาหลวงพ่อมุม พระปิดตาเนื้อว่าน 108 รูปหล่อ รูปเหมือนบูชารุ่นแรก ล็อกเก็ต ผ้ายันต์ แหวน แหวนล็อกเก็ต ตระกรุดโทนเนื้อเงิน สีผึ้ง ลูกอม เหรียญใบตำลึง เป็นต้น
พ.ศ.2519 ในปีนี้หลวงพ่อมุม อายุครบ 90 ปี มีการจัดสร้างเหรียญฉีดซุ้มกนก โดยมีแบบมีหูและไม่มีหู ซึ่งบางคนเรียกเหรียญโปร่งทะลุ รูปหล่อ รูปเหมือน แหวน ทปค. ฯลฯ
พ.ศ.2520 ธนาคารกรุงเทพ ได้ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญดอกบัวพิมพ์หนาและพิมพ์บาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธนาคาร และทางวัดปราสาทเยอเหนือยังได้จัดสร้างพระผงนาคปรก รูปเหมือนขนาดบูชา ผ้ายันต์ ฯลฯ
อีกทั้งยังมีแหนบของท่านที่จัดสร้างขึ้นก็มีหลายช่วง พ.ศ.ด้วยกัน มีทั้งแหนบพัดยศ แหนบรูปเสมา แหนบสกรีนลงยา แหนบรูปอาร์ม รวมทั้งเข็มกลัดอีกด้วย
ส่วนเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อมุมนั้นลักษณะการสร้างจะแตกต่างกัน เช่น ผ้ายันต์ รูปถ่าย ลูกอม เหรียญ ร.5 กะลาตาเดียว หวายลูกนิมิตร ไม้ไผ่ตัน มีดหมอลงเหล็กจาร งาแกะหลายพิมพ์หลายแบบ ตะกรุดหลายรูปแบบ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องรางของขลังของท่านจะไม่มีแบบเฉพาะ เนื่องจากลูกศิษย์และชาวบ้านจะนำแผ่นโลหะ งาแกะ หรือวัตถุมงคลอื่นๆ มาให้หลวงพ่อลงเหล็กจารคาถาอาคมแล้วปลุกเศก โดยท่านจะสั่งให้มารับตามกำหนดการที่ท่านปลุกเสกเสร็จ บางอย่างอาจต้องรอหลายเดือนก็มี เพราะท่านปลุกเสกตามพิธีตำราโบราณ ลายมือที่ท่านลงเหล็กจารในวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังนั้น ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อมุม
ข้อห้ามเฉพาะในวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อมุม
1.ห้ามลอดไม้ค้ำต้นกล้วย 2.ห้ามใช้มือทั้งสองกอบน้ำในบึง หนอง คลอง ที่ตนลงเล่นมาดื่มกิน 3.ห้ามลอดใต้สะพานหัวขาดหัวเดียว
นี่คือข้อห้ามเฉพาะของท่านที่จะต้องถือให้ได้ นอกจากนั้นก็แล้วแต่ข้อห้ามในแต่ละส่วนของวัตถุมงคล เช่น ตระกรุดของท่านบางชนิดจะมีข้อห้าม คือ ห้ามกินมะขามป้อม ห้ามกินน้ำเต้า ห้ามด่าบุพการี ห้ามโอ้อวด
คาถาต่างๆของหลวงพ่อมุม
คาถาป้องกันภัย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
"กันนะ กันนา กันนิ กันนี กันนอก กันใน ศัตรูปองร้าย วินาศสันติ"
(ภาวนา 3 จบ 5 จบ 7 จบ หรือ 9 จบ แล้วแต่จะภาวนาเอาเถิดท่านว่าดีแล)
คาถาเมตตามหานิยม
โอม ปาสินัง โอม ท้าวกายนาง โอมนางกายท้าว โอมสวาติด นะเมตตา
โมกรุณา พุทธปราณี ธายินดี ยะอินดู โอมสวาติด
คาถาป้องกันอันตราย
อุ อะ นะ มะ กะ สะ นะ กัง นะ จัง งัง อัด พุทโธ อุด ธัมโม อัด สังโฆ
อุด โอม สวาหมติด มะ อะ อุ
คาถาป้องกันตัว
อิระชา คะตะระสา ติหังจะโตโรถินัง มะ อะ อุ
คาถาแคล้วคลาด
อิสวาสุ สวาสุอิ สุสวาอิ สุอิสวา
คาถากันผีพราย
สักกัสสะ เสสะรุวันนัสสะ เตนะอาวุทธาวะ นุญจะเว นะสัพเพ ยักขา ปะลายัน
ติ นะ มะ พะ ทะคาถาเมตตา
มิตติ จิตตัง มิตตัง สัทธา นะชาลิติ
กฐินพระราชทาน
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2514 พสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง มีโอกาสต้อนรับเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระกฐินส่วนพระองค์ ณ วัดปราสาทเยอเหนือ ซึ่งนับว่าเป็นวัดแรกของภาคอีสานที่ล้นเกล้าฯได้เสร็จพระราชดำเนินพระราชทานกฐินส่วนพระองค์ พสกนิกรได้เข้าเฝ้าอย่าล้นหลามเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมาอย่างหนัก พสกนิกรไม่ยอมลุกหนีจากที่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรท่ามกลางสายฝนเช่นเดียวกัน ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่พสกนิกรอย่างล้นพ้น พระองค์ทรงให้ทางราชการสร้างศาลา ภ.ป.ร. ถวายแก่หลวงพ่อมุมอีกด้วย ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ.2515
ประวัติหมู่บ้านปราสาทเยอ
หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งมานานประมาณ 200 ปีเศษ อพยพมาจากประเทศลาวทางตอนใต้ มาตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองคง (ปัจจุบันอยู่ที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ) แล้วอพยพมาตั้งหมู่บ้านที่บ้านปราสาทเยอ กลางหมู่บ้านมีปราสาทขอมโบราณ เป็นปราสาทหินศิลาแลงแบบขอม เล่ากันว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างขึ้นเพื่อเป็นธรรมศาลาที่พักรายทางในการออกตรวจเยี่ยมเมืองต่างๆ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นหินทรายใช้ทำเสาโครงประตูและภาพจำหลัก กำแพงรอบนอกตัวปราสาทสร้างด้วยอิฐศิลาแลงและอิฐ ขนาดกว้าง 21.50 เมตร ยาว 34.50 เมตร และมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ห่างจากตัวปราสาท 100 เมตร ปัจจุบันปราสาทเยออยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมเหลือแต่ซากอิฐทับถมเป็นกองสูง มีแต่ประตูซึ่งทำด้วยหินทราย 2 บานที่ยังไม่ปรักหักพัง และเห็นลวดลายเป็นรูปพระอิศวรทรงช้างสามเศียร
หมู่บ้านปราสาทเยอ มีวัด 2 วัด คือ วัดปราสาทเยอเหนือ และ วัดปราสาทเยอใต้
เรียบเรียงข้อมูลจาก : หนังสือรำลึก 40 ปี กฐินพระราชทาน
ภาพถ่ายประกอบโดย : สุวิวัฒน์ หงษ์สมบัติ
ภาพถ่ายประกอบที่ไม่มีลายน้ำ www.mistercleanweb.com จาก : หนังสือรำลึก 40 ปี กฐินพระราชทาน