HOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรก




Google


พระแก้วเนรมิตวัดลำภู


ตำแหน่งพิกัด GPS : 14.764797, 104.164675

องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขุขันธ์

องค์พระแก้วเนรมิต หรือ องค์พระพุทธรูปวัดลำภู และที่ชาวขุขันธ์ซึ่งเป้นคนท้องถิ่นเรียกกันเป็นภาษาเขมรว่า "เปรี๊ยะตาลำปู" เป็นองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้ของชาวขุขันธ์และเมืองใกล้เคียงในแถบมณฑลอีสานมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี จวบจนถึงปัจจุบันองค์พระแก้วเนรมิตเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งของเมืองขุขันธ์ที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์และแสดงอภินิหารไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์อื่นๆในประเทศไทย ซึ่งพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ หรือตาไกร) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกเป็นผู้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทร์ ในราวปี พ.ศ.2321 โดยอัญเชิญมาสถิตประดิษฐาน ณ เมืองขุขันธ์ ปัจจุบันองค์พระแก้วเนรมิตประดิษฐานอยู่ ณ หอพระแก้วเนรมิต ภายในวัดลำภู (วัดรัมพนีวาส) บ้านลำภู หมู่ที่ 4 ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากตัวอำเภอขุขันธ์ประมาณ 8 กิโลเมตร

องค์พระแก้วเนรมิตมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ มียอดพระเกศยาวและโค้งงอไปด้านหลัง ยังไม่มีผู้ให้คำตอบว่าเป็นศิลปะยุคใด




นอกจากองค์พระแก้วเนรมิตแล้วยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่องค์พระแก้วเนรมิตศักดิ์สิทธิ์องค์นี้อีก คือ องค์พญาครุฑ ที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์เช่นเดียวกัน

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 2 องค์นี้ว่า ในอดีตเคยมีผู้คิดอัญเชิญให้ไปประดิษฐานที่วัดอื่นเมืองอื่น เมื่ออัญเชิญขึ้นบนหลังช้างที่หมอบรับแล้ว แต่ช้างไม่ยอมลุกขึ้น จะเปลี่ยนช้างกี่เชือกก็มีอาการเช่นเดียวกัน เป็นความมหัศจรรย์ยิ่ง จากนั้นไม่มีผู้ใดกล้าที่จะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ที่วัดแห่งใดอีกเลยจนถึงปัจจุบัน




ในปี พ.ศ.2321 พระยานางรองคบคิดกับเจ้าโอและเจ้าอิน ร่วมมือกับอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ กระทำการกบฏต่อกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมีพระราชดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ครั้งยังดำรงพระเกียรติยศเป็นพระยาจักรีเป็นจอมทัพเสด็จขึ้นไปปราบเมืองลาวได้ทั้งหมดตลอดเมืองเวียงจันทร์ด้วย

ในการทำศึกครั้งนี้ได้มีบัญชาให้ทัพจากเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ร่วมทำศึกด้วย เมื่อเสร็จศึกแล้วจึงมีบัญชาให้ทัพเมืองขุขันธ์ โดยพระไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ หรือ ตาไกร) บรรดาศักดิ์ในขณะนั้น และหลวงปราบ(เชียงขัน) ซึ่งเป็นทหารเอกในการทำศึกครั้งนี้ อัญเชิญเอาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต) และองค์พระบาง พร้อมพระพุทธรูปองค์เล็กอีก 2 องค์ คือ องค์พระแก้วเนรมิต และ องค์พระพญาครุฑ กลับประเทศไทยด้วย โดยมีตำนานเล่าขานว่า ได้อัญเชิญมาพำนักประดิษฐานอยู่ ณ เมืองขุขันธ์ แล้วทำพิธีสมโภช 3 วัน 3 คืน จากนั้นจึงได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต) กับพระบาง ขึ้นคานหามเดินทางต่อไปพำนักอยู่ ณ เมืองสระบุรี แล้วแจ้งข้อราชการที่มีชัยต่อข้าศึกต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงปลาบปลื้มปิติยินดียิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯให้จัดเรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือพระรับองค์พระแก้วมรกต และเรือพระที่นั่งกราบรับองค์พระบาง พร้อมด้วยขบวนเรือชัย แห่ล่องมาเป็นขบวนพยุหยาตรานาวาสู่กรุงธนบุรี เพื่อกราบบังคมทูลถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินในเวลาต่อมา ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็ก คือ องค์พระแก้วเนรมิตและองค์พระพญาครุฑ เจ้าเมืองขุขันธ์ได้ขออัญเชิญไว้ให้ประดิษฐาน ณ เมืองขุขันธ์

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต) อัญเชิญให้ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองอันศักดิ์สิทธิ์ของไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับ "องค์พระบาง" พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเชื่อและทรงเห็นว่า พระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ คือ พระแก้วมรกตและพระบาง ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเดียวกันไม่เป็นมงคล จึงทรงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญคืนองค์พระบางให้แก่เมืองหลวงพระบางไป ปัจจุบันองค์พระบางถูกอัญเชิญประดิษฐานอยู่ ณ เมืองหลวงพระบางจนถึงทุกวันนี้

คาถาบูชาพระแก้วเนรมิต

นโม 3 จบ

อิมัสมิง ลำภูวาเส ปติฏฐิตัง สิริสะเกษา ฐิรัฏเฐ มหาชเนหิปูชิตัง รัตนนิมิตธนามัง พุทธรูปัง ครุฑธะพาหะนัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา นะมะการานุภาเวนะ สัพพะโสตถี ภวันตุเต (เม) (ภวันตุเม เป็นการขอพรสำหรับตนเอง)

ทุกครั้งที่ไปกราบไหว้พระแก้วเนรมิตและองค์พระพญาครุฑ ควรนำดอกไม้สดและะธูปเทียน พร้อมทั้งผลไม้บูชาพระครุฑด้วย เพื่อขอพรและความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว


     

วัดลำภู(วัดรัมพนีวาส)

เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นiประมาณปี พ.ศ.2134 (ก่อนตั้งเมืองขุขันธ์) ปัจจุบันอายุราว 425 ปี กล่าวคือตั้งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีพระภิกษุประทาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ปัจจุบันยังพอมีหลักฐานที่ปรากฎหลงเหลืออยู่ให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดนี้ว่ามีอายุนับเป็นร้อยๆปีมีอยู่หลายอย่าง ประกอบด้วยพระธาตุเจดีย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ปราสาท 2 หลัง เป็นพระธาตุเจดีย์ศิลปล้านช้างตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของโบสถ์ในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.2546 เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้นำเอาก้อนอิฐจากพระธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์ไปทำการศึกษาวิจัยดูความเก่าแก่ว่ามากน้อยเพียงใด จากนั้นได้แจ้งให้ทางวัดทราบว่า องค์พระธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้มีอายุราว 444 ปี คือสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2102 และทางการได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


     

บริเวณวัดนอกจากจะมีต้นตาลที่ขึ้นเป็นทิวแถวเป็นจำนวนมากแล้วยังมีต้นไม้ที่สำคัญทางพุทธศาสนา คือ ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ 9 คนโอบ อายุหลายร้อยปีอยู่ 4 ด้าน สันนิษฐานว่าต้นโพธิ์นี้ปลูกขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด แต่เป็นที่น่าเสียดายต้นโพธิ์ 2 ต้นที่อยู่บริเวณใกล้ที่สร้างวัดในปัจจุบันได้ถูกตัดโค่นลงในยุคหลังๆโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์

นอกจากต้นโพธิ์แล้วยังมีต้นไม้ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีก คือ ต้นมะขามขนาดใหญ่ ลักษณะรูปทรงบ่งบอกถึงความมีอายุยาวนานเป็นร้อยๆปีเช่นกัน มะขามต้นนี้ชาวบ้านเรียกว่า "ต้นมะขามตะไกร" หรือมะขามตาพระยาไกร เชื่อกันว่า พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรกเป็นคนปลูก


     


 

ในบริเวณทิศเหนือของอุโบสถนอกจากจะเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์เก่า ศิลปะลานช้างแล้ว ยังมีเสาหลักไม้แกะสลักเป็นรูปดอกบัวตูม ด้านล่างเป็นโพรงสี่เหลี่ยมทำจากไม้กันเกรา มีผู้ทรงศีลผู้มีภูมิธรรมทางวิปัสสนาญาณสูง นั่งทางในแล้วบอกว่า เสาดังกล่าวนั้นเป็นเสาหลักเมืองขุขันธ์เก่า ถ้าอยากให้เมืองขุขันธ์เจริญรุ่งเรือง มีความสงบเรียบร้อย ก็ให้จัดสร้างศาลหลักเมืองแล้วอัญเชิญเสาหลักเมืองเก่านี้ตั้งขึ้นประดิษฐานไว้ในศาลที่สร้างใหม่เพื่อสักการะบูชา ทุกอย่างก็จะดี มีความรุ่งเรืองเหมือนดังในอดีต จากความศักดิ์สิทธิ์และประมวลดูสถานที่และโบราณสถานที่มีอยู่ในเขตบริเวณวัด และบริเวณใกล้เคียงประกอบกันกับหลักฐานอื่นๆอีกหลายอย่าง จึงเชื่อได้ว่าเสานี้เป็นเสาหลักเมืองขุขันธ์เก่าอย่างแน่นอน

 





 

เรียบเรื่องเนื้อหาจาก : หนังสือ "พระแก้วเนรมิต และองค์พระพญาครุฑ องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขุขันธ์" โดย อ.จำเริญ ดวงใจ และ คุณนิติภูมิ ขุขันธิน ปี พ.ศ.2550

ขอบพระคุณ : ท่านเจ้าอาวาส พระอธิการสาน โชติปาโล สำหรับเรื่องราวเพิ่มเติมและให้ความสะดวกในการถ่ายภาพประกอบ

ภาพถ่ายประกอบโดย : สุวิวัฒน์ หงษ์สมบัติ


 


Google