HOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรก




Google



  หลวงพ่อโต (พระพุทธมหามุนี)  

 




 

 
หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่อโตวัดมหาพุทธาราม มีตำนานเล่าว่า ค้นพบหลวงพ่อโตในสมัยสร้างเมืองใหม่ ที่ ดงไฮสามขา ที่ตั้งวัดพระโต มีป่าเครือมะยางขึ้นอยู่หนาแน่น ในขณะที่ถางป่านั้นได้พบตุ๊กตาหินองค์หนึ่ง มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป เล่ากันว่า ตุ๊กตาหินองค์นี้มีอภินิหารเป็นพิเศษ คือเมื่อมองดูจะเห็นเป็นองค์เล็ก ๆ เท่าแขนคนธรรมดา แต่พอเข้าไปกอดกลับโอบไม่รอบ ชาวบ้านพากันฉงนยิ่งนัก จึงไปบอกอาจารย์ศรีธรรมาผู้เป็นใหญ่ เมื่อรู้ว่าเป็นจริงก็เลยทำพิธีสมโภชกันขนานใหญ่ และขนานนามตุ๊กตาหินองค์นี้ว่า พระโต ซึ่งต่อมาได้นำอิฐหรือปูนสร้างเสริมให้ใหญ่จริงๆ ดังที่เห็นกันในปัจจุบัน (ข้อมูลจากวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ ฯ หน้า 156)

แต่ตำนานที่ค่อนข้างสอดคล้องกับประวัติศาสตร์เมืองศรีสะเกษ จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางเล่ากันว่า หลวงพ่อโตองค์จริงนั้น ถูกหุ้มอยู่ข้างใน เป็นพระพุทธรูปหินดำเกลี้ยง (บางแห่งว่าหินเขียว บางแห่งว่าหินแดง) ปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร) เดิมมีหน้าตักกว้างยาว 2.50 เมตร ต่อมากลัวว่าพวกมิจฉาชีพจะทำให้เสียหาย จึงมีผู้ศรัทธาหุ้มเสริมองค์จริงเข้าไปหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ มีขนาดหน้าตัก 3.50 เมตร ความสูงตั้งแต่พระเกศาลงมา 6.85 เมตร เมื่อพุทธศักราช 2509 ได้มีการสร้างวิหารใหญ่ครอบซึ่งมีความกว้าง 14.00 เมตร ยาว 40 เมตร ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน


จึงพอสรุปได้ว่า มีการค้นพบหลวงพ่อโตเมื่อ พระยาวิเศษภักดี (ชม) ย้ายเมืองมาตั้งใหม่ในสถานที่ที่เป็นจังหวัดศรีสะเกษปัจจุบัน และได้สร้างวัดพระโตเป็นวัดคู่เมืองศรีสะเกษขึ้น ในปีพ.ศ. 2328 นับถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2554) วัดพระโตมีอายุ 226 ปี
 

     

 
 ท้าวสหัสนัยน์  ยักษ์หน้าประตุทางเข้า
 
 ท้าวเวสสุวัณ  ยักษ์หน้าประตูทางเข้า
 


 

วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษ ในปี พ.ศ.2328 เจ้าเมืองศรีสะเกษคนที่ 2 พระยาวิเศษภักดี (ชม) ได้ย้ายเมืองศรีสะเกษ จากที่ตั้งเดิมบ้านโนนสามขาสระกำแพงมาตั้งที่บริเวณที่เป็นศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ในขณะที่สร้างเมืองนั้น มีคนไปพบหลวงพ่อโต ภายในใจกลางป่าแดง (ขณะนั้นบริเวณวัดพระโตเป็นป่าแดง) จึงได้อุปถัมภ์บำรุง โดยให้สร้างวัดขึ้นบริเวณที่พบหลวงพ่อโต ตั้งชื่อว่า วัดพระโต หรือวัดป่าแดง ได้จัดหาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิมาปกครอง ก่อสร้างเสนาสนะที่จำเป็นต่าง ๆ และ เจ้าเมืองศรีสะเกษคนต่อ ๆ มาไม่ว่าเจ้าพระยาวิเศษภักดี (โท) หรือเจ้าพระยาวิเศษภักดี (บุญจันทร์) เป็นต้น ก็ได้อุปถัมภ์เอาใจใส่บำรุงวัดพระโตเสมือนเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษตลอดมา ตราบเท่าที่ศรีสะเกษได้กลายเป็นจังหวัด ตามกฎหมายแบ่งเขตการปกครอง ซึ่งเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเจ้าเมืองใหม่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนต่างก็ให้ความเคารพยำเกรง เมื่อมาดำรงตำแหน่งใหม่ก็ถือเป็นประเพณีที่ต้องมาทำพิธีบูชาสักการะหลวงพ่อโตในวิหารก่อนเสมอ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 คณะสงฆ์ศรีสะเกษซึ่งมีพระชินวงศาจารย์(มหาอิ่ม คณะธรรมยุติ) เป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษขณะนั้น ดำริจะเปลี่ยนชื่อวัดพระโตหรือวัดป่าแดงเป็น วัดมหาพุทธวิสุทธาราม แต่คณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ได้พิจารณาเห็นควรเพียงชื่อว่า วัดมหาพุทธารามจึงได้ชื่อ วัดมหาพุทธาราม มาแต่บัดนั้น(ทั้งนี้ตามบันทึกของมหาประยูร วัดมหาพุทธาราม)

 

     

 
 โบสถ์มองจากภายนอก
 
 จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์
 

  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักศาสนศึกษาวัดมหาพุทธาราม
ภาพถ่ายประกอบโดย : สุวิวัฒน์  หงษ์สมบัติ
 

Google