HOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรก




Google


 

หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท

หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท

ประวัติหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท
หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท (นามสกุลเดิมว่า ประถมบุตร) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๕๓ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ ภูมิลำเนาเดิมเกิดอยู่บ้านค้อ ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันย้ายไปบ้านหนองแปน ตำบลเดียวกัน เป็นบุตรคนที่ ๔ บิดา นายสอน ประถมบุตร มารดา นางยม ประถมบุตร มีบุตรทั้งหมด ๑๔ คน แต่ตายเสีย ๖ คน คงเหลือ ๘ คน คือ

 
 

๑. หลวงตาสุ สุปญโญ
๒. นายเถ้า ประถมบุตร
๓. หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท
๔. นายนิล ประถมบุตร
๕. นายสา ประถมบุตร
๖. นางบุญจันทร์ ชูกำแพง
๗.นายบัวทอง ประถมบุตร (สันทัสถ์) ป.ธ.๕ ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด

     สมัยนั้นการศึกษาเล่าเรียนยังไม่เจริญ เมื่อท่านอายุได้ ๘ ปี ได้เล่าเรียนหนังสือไทย ประถม ก.กา เรียนอยู่กับคุณลุงเกษ ประถมบุตร เป็นครูสอนอยู่กับบ้านตอนเย็นหรือกลางคืนว่างๆ การเรียนพออ่านออกเขียนได้ ครั้นต่อมาท่านอายุได้ ๑๕ ปี(พ.ศ.๒๔๖๗) ได้เข้าโรงเรียนรัฐบาลที่วัดสระกำแพงใหญ่ มีพี่น้องเข้าโรงเรียนพร้อมกันทั้ง ๓ คน เพราะไม่มีใครช่วยพ่อแม่ทำงานเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ โยมพ่อของท่านตั้งกติกาให้เปลี่ยนกันไปโรงเรียนคนละ ๗ วัน ทั้งนี้ทำให้หลวงพ่อเรียนหนังสือไม่ได้เต็มที่เสียเวลาเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน ครั้นเวลาผ่านไป ทางราชการและครูไม่ยอมให้เปลี่ยนกันเรียน แต่ก็ต้องเปลี่ยนกันเรียนอยู่นั่นเอง เพราะเหตุดังกล่าวแล้วนั้นเมื่อหลวงพ่อมาโรงเรียนวันไหนจึงต้องถูกครูตีทุกวันซึ่งเป็นการผิดกฎโรงเรียน จำเป็นก็ต้องทนอยู่ในสภาพนั้น ในเวลานั้นหลวงพ่อท่านเล่าว่าไม่รู้จะเชื่อฟังใครดี ผลที่สุด หลวงพ่อท่านก็ต้องหาอุบายแอบหนีญาติมาโรงเรียนคนเดียว หลวงพ่อก็มีความรู้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งระยะนั้นหลวงพ่อกำลังสนใจในการศึกษาเล่าเรียน ท่านเรียนได้ประถม ๑ เท่านั้น ประถม ๒ได้เรียนได้ครึ่งปี ทางราชการมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ ผู้มีอายุได้ ๑๘ ปี ให้เสียค่าเล่าเรียนประถมศึกษาคนละ ๔ บาท เงิน ๔ บาทสมัยนั้นมีค่ามากนัก ด้วยความจำเป็น หลวงพ่อจึงต้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ครั้นต่อมาหลวงพ่อก็ได้อยู่ช่วยทำกิจการงานทุกอย่าง หนักเอาเบาสู้ ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ รับผิดชอบในหน้าที่ของผู้หญิงทุกอย่าง ตักน้ำตำข้าว เก็บผักหักฟืน หุงต้มเก็บหม่อนป้อนไหม ถอนกล้า ไถนา ปักดำ ทุกแขนงจนเกิดความเบื่อหน่าย จะไปเที่ยวเล่นตามเพื่อนบ้านก็ไม่มีเวลา พอท่านอายุได้ ๑๙ ปี หลวงพ่อขอลาพ่อแม่ออกบวชเป็นสามเณร แต่ท่านโยมพ่อแม่ของท่านไม่อนุญาติ ครั้นต่อมาอายุได้ ๒๑ ปี ท่านขอลาบวชเป็นพระ ทีนี้คูณพ่อท่านไม่ขัดใจ แต่คุณแม่ยังป่วยอาการหนักอยู่มาก ท่านป่วยได้ ๓ ปี เป็นโรคปอดบวม หลวงพ่อท่านว่าจะเป็นเพราะกรรมของท่านอยากบวชมากเหลือเกิน หลวงพ่อจึงตัดสินใจออกบวช เมื่อบวชแล้วได้ครึ่งเดือน โยมแม่ของหลวงพ่อก็เสียชีวิตลง
หลวงพ่อท่านบรรพชาอุปสมบทที่วัดสำโรงน้อง ตำบลหนองกว้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ พระครูเทวราชกวิวรญาณเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ใบฎีกาชม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์พรมมา เป็นพระอนุสาสนาจารย์บวชแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดบ้านค้อ ตำบลกำแพง เมื่อออกพรรษาแล้ว พี่ ป้า น้า อา บอกให้หลวงพ่อสึกออกมาเลี้ยงน้องอีก หลวงพ่อเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาสท่านจึงยังไม่ตกลงใจ ก่อนจะสึกจริงๆหลวงพ่อได้ไปปรึกษาหารือกับคุณปู่ของท่าน คุณปู่ท่านให้ข้อคิดว่าถ้าท่านจะสึกออกมาเลี้ยงน้องนั้นไม่ดี ช่วยเขาไม่ได้หรอก แสวงหาทางพ้นทุกข์ดีกว่า คงเป็นทางช่วยตัวเองได้ คุณปู่ท่านให้ข้อคิดดังนี้ ท่านฟังแล้วมีเหตุมีผลดี ท่านจึงตัดสินใจปฏิบัติตามคำสอนของปู่ท่านจึงกราบลาเจ้าอาวาสเดินทางไปวัดทุ่งไชย เพื่อจุดประสงค์ว่าจะไปศึกษาเล่าเรียนคำภีร์มูลกัจจายน์ ไปอยู่ได้ ๒ เดือน เข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่ท่านบอกว่าในระยะนี้ไม่ได้สอน เลิกทำการสอนมานานแล้ว เพราะนักเรียนน้อย ไม่มีพระเณรสนใจเรียนมูลเดิม แล้วท่านจึงนมัสการลากลับวัดเดิมอีก ต่อมาคุฯอาของหลวงพ่อท่านก็นำพาหลวงพ่อเดินทางไปวัดท้องหล่มใหญ่ จังหวัดมหาสารคาม พอไปถึงท่านก็ลาสิกขาไปเสียแล้วไม่ได้อยู่เพราะหาพระที่สนใจศึกษาไม่มี ท่านจึงได้เดินทางไปอยู่วัดบ้านยางใหญ่ ตำบลเมืองแคน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อยู่กับท่านพระอุปัชฌาย์สาย เจ้าอาวาสท่านมีนิสัยเยือกเย็น ครั้นเข้าปุริมพรรษาแล้ว ท่านก็ตั้งใจสอนบาลี คัมภีร์มูลกัจจายน์ เมื่อเรียนแล้วท่านอาจารย์ก็รักหลวงพ่อมาก การเรียนหนังสือมูลกัจจายน์นั้นท่านเรียนได้ดี ในการแปลภาษาบาลีเป็นประโยคคล่องแคล่วและใส่สัมพันธ์ด้วย เริ่มตั้งแต่สนธิเป็นต้นไป นานๆเข้าพระอาจารย์ท่านปล่อยให้ท่านแปลด้วยตนเองเป็นประโยคๆไป ครั้นกาลต่อมา สหธรรมมิกที่เรียนด้วยกันปรึกษาหารือกันว่า การเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์สมัยนี้เขาไม่นิยมเสียแล้ว หลวงพ่อว่าตอนนี้กิเลสเป็นเจ้าเรือนมากระซิบให้หลงงมงายไปเสียอีก ท่านจึงได้พิจารณาใคร่ครวญดูแลเหตุผลแล้วจึงกราบนมัสการลาท่านอาจารย์ไปเรียนบาลีไวยากรณ์ หวังเอาพระเปรียญกับเขาบ้าง ท่านจึงได้ออกเดินทางไปอยู่วัดหลวงเมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้เข้าเล่าเรียนบาลีไวยากรณ์พร้อมกับเรียนนักธรรมชั้นโทด้วย ออกพรรษาแล้วกลับมาสอบนักธรรมชั้นโท พอสอบเสร็จท่านก็ป่วยเป็นโรคเหน็บชา ในตอนนั้นหลวงพ่อท่านได้นัดหมายกันกับเพื่อนพระองค์หนึ่ง คือท่านมหาบุญมา แสนทวีสุข เป็นเพื่อนรักกันกับหลวงพ่อมากที่สุด ท่านนัดหมายกันว่าจะย้ายไปเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้นหลวงพ่อว่าท่านเหมือนมีพญามารมาตัดรอนท่าน คือเจ้ากรรมนายเวร กิเลสมาพันผูก คือ พี่ ป้า น้า อา ห้ามไม่ให้ไปโดยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคมาขัดขวางไม่ให้ท่านไปศึกษา ท่านว่าคงจะเนื่องด้วยผลกรรมของท่านสร้างมาจึงเสียผลที่ท่านควรไป

ครั้นอยู่ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต ตำบลหนองกว้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ได้ ๑๑ พรรษาและหลวงพ่อท่านได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นต้นมาจนปัจจุบันนี้

เจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ พระอุปัชฌาย์เครื่อง สุภทโท เดิมเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านพงษ์พรต และได้เข้ามาจำพรรษาที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบแทนพระอุปัชฌาย์คำ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้ก่อตั้งสำนักเรียนบาลีและนักธรรมขึ้นโดยร่วมมือกับพระมหาอินทร์ สีลวโส (พระครูวิกรม ธรรมโสภณ) เจ้าคณะอำเภอปรางค์กู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปริยัติธรรม ส่วนท่านเจ้าอาวาสเป็นนักวิปัสสนาเน้นการปฏิบัติธรรม ท่านรูปนี้ได้พัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้า สิ่งก่อสร้างภายในวัด จะเป็นกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ เมรุเผาศพ กำแพงวัด ซุ้มประตู และสิ่งอื่นๆสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอาวาสองค์นี้ทั้งสิ้น เพราะของเก่าชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาต้องรื้อถอนและสร้างใหม่ทั้งหมด เจ้าอาวาสรูปนี้จึงมีความสำคัญต่อชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ประชาชนทั่วไปไม่ว่าใกล้หรือไกลมีความเคารพเลื่อมใส และศรัทธาในตัวท่านมาก ทำให้การพัฒนาวัดเจริญรุ่งเรืองเป็นวัดชั้นแนวหน้าของอำเภออุทุมพรพิสัยในปัจจุบัน

ข้อมูลจาก : http://www.geocities.com/srakhumpangyai/longpoo1.htm

 
 
วัดสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ
 วัดสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ
 


Google