HOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรก

 
Google
 


เหนือเวทนา

การฟังธรรมที่จะให้เกิดประโยชน์นั้น   ต้องฟังด้วยความสงบ   เพราะจิตนี้ก็เหมือนกับเทปบันทึก เสียง   ถ้ามีเสียงอะไรมาปะปนรบกวน  เสียงก็ฟังไม่ชัด  ความรู้ที่จะได้รับก็น้อย  ถ้าฟังธรรมในที่ สงบด้วยจิตสงบ  ก็จะมีแต่เสียงธรรมะอย่างเดียว  คำพูดก็สะอาดฟังง่าย

การรับและปฏิบัติธรรมะย่อมชนะสิ่งทั้งปวง
ธรรมะที่เกี่ยวเนื่องกับการประพฤติปฏิบัตินั้น  เป็นธรรมะที่ให้ประโยชน์มาก  เพราะไม่ใช่ธรรมะ เพื่อการฟังอย่างเดียว  แต่เป็นธรรมะที่นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติโดยตรง  การประพฤติปฏิบัติที่ จะให้ถูกต้องนั้น  ต้องรู้จักและเข้าใจเรื่องของกายกับใจ  เพราะกายกับใจนี่แหละที่พาให้สุขพาให้ ทุกข์  มันเกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่   ดังนั้นการปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง


ถ้าหากได้ฟังธรรมแล้วแต่ไม่นำมาปฏิบัติ  ก็เปรียบเสมือนว่าได้เพียงเปลือกไม้เท่านั้น   ยังไม่ได้ลิ้ม รสผลของมันว่าเปรี้ยวหรือหวานอย่างไร   การฟังธรรมโดยไม่นำมาปฏิบัติก็ เหมือนกับการได้จับ หรือถือผลไม้เท่านั้น  ยังไม่ได้กินไม่ได้ลิ้มรสมัน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  เพราะได้แต่ถือเอาไว้แต่


  ไม่รู้จักรสชาด   หรือความเอร็ดอร่อยของมัน  จะรู้ได้จริงก็ต่อเมื่อได้ลองรับประทานผลไม้นั้นด้วยตนเอง   ซึ่งเมื่อรู้รสด้วยตนเองแล้วก็เป็น พยานในตัวเองได้  ถ้ายังไม่รู้เองเห็นเองอย่างนี้  ก็เท่ากับมีแต่พยานภายนอก  คือ คนที่เขาให้ผลไม ้ แล้วก็เชื่อไปตามที่เขาว่าซึ่งไม่ใช่ความ เชื่อของตนเอง

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่า   คนที่เชื่อแต่คนอื่นนั้นท่านไม่สรรเสริญ     ท่านทรงสรรเสริญบุคคลที่รู้เป็นปัจจัตตัง  คือ รู้ เฉพาะตนเอง   เปรียบเหมือนอย่างคนที่ได้ลิ้มรสผลไม้ด้วยตนเอง   เพราะถ้าได้ลิ้มรสด้วยตนเอง   แล้วจะไม่ต้องไปถามผู้อื่นว่าเปรี้ยวหรือ หวานอย่างไรความสงสัยทั้งหลายก็หมดไป  เพราะได้รู้ประจักษ์ในความจริงแล้วรู้อย่างทั่วถึงนี้คือคนที่รู้ธรรมะ   แล้วผู้บรรลุถึงธรรมะก็ คือบุรุษที่บรรลุถึงความเปรี้ยวหวานของผลไม้นั่นเอง


การแสดงธรรมก็เพื่อให้รู้สิ่งต่างๆสี่ประการ  คือ ให้รู้จักทุกข์รู้จักเหตุเกิดของทุกข์รู้จักความดับทุกข์  ให้รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์  เมื่อ รู้แจ่มแจ้งทั้งสี่ประการนี้แล้วมันก็หมด  เพราะทุกข์เราก็รู้เหตุของทุกข์เรา ก็รู้ความดับทุกข์เรา  ก็รู้ข้อประพฤติปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้เราก็รู้   เมื่อรู้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งทั้งสี่ประการอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าจบปัญหาความสงสัยทั้งหลายก็หมดไป   สิ่งทั้งสี่ประการนี้เกิดอยู่ที่ ไหน?  ก็เกิดอยู่ที่กายกับใจของเรานี่เอง  ไม่อยู่อื่นไกลหรอก   แต่ทำไม่พระพุทธองค์จึงทรงแยกแยะธรรมะออกให้กว้าง    ก็เพื่อจะอธิบาย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้ละเอียดเป็นอย่างๆออกไป    เพื่อให้เรานำมากำหนดพิจารณา    ท่านทรงแนะนำ ให้พิจารณาร่างกายออกเป็นอย่างๆ เช่น พิจารณาผมขนเล็บฟันหนัง  เป็นต้น   ให้แยกแยะร่างกายออกมาเพื่อทำให้เห็นตามความเป็นจริงของร่างกายอย่างชำนิชำนาญ   ให้รู้ ู้ยิ่งตามความเป็นจริงของสังขารอันนี้ เพราะถ้าไม่รู้ตามเป็นจริงนี้แล้วเราก็จะไม่รู้จักทุกข์  ไม่รู้จักเหตุของทุกข์   ไม่รู้จักความดับทุกข์  ไม่ รู้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์   ถ้าไม่รู้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้  ก็ไม่รู้ข้อปฏิบัติ แล้วการฟังเทศน์ฟังธรรมทั้งหลายก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์แต่ ่อย่างใด

เมื่อใดเห็นธรรมเมื่อนั้นเห็นพระพุทธเจ้า ธรรมะนั้นอยู่ที่ไหน?

พระพุทธองค์ตรัสว่าธรรมะมีอยู่ทุกที่ทุกแห่ง  มีธรรมะอยู่ทุกที่ทุกสถาน  จะเป็นรูปมันก็เป็นธรรมะ  จะเป็นนามมันก็เป็นธรรมะ  เมื่อเป็น เช่นนี้ก็ควรเข้าใจว่า  เราทั้งหลายนั้นเกิดอยู่กับธรรมะ  ใกล้ชิดธรรมะอยู่ตลอดเวลา  ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้แล้วก็จะเข้าใจต่อไปอีกว่า  เราไม่ได้ ห่างไกลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย  เราอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์อยู่ตลอดเวลา  แต่ทำไมเราจึงยังไม่เห็นท่าน  ก็เพราะเรายังไม่ค่อยได้ สนใจปฏิบัตินี่เอง   เพราะธรรมะคือพระพุทธเจ้า   และพระพุทธเจ้าคือธรรมะ  พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า  "ดูก่อนอานนท์.. ให้ท่านทำให้มาก เจริญให้มาก ปฏิบัติให้มาก ใครเห็นเราคนนั้นเห็นธรรม ใครเห็นธรรมคนนั้นก็เห็นเรา " ซึ่งแสดงว่าเราไม่ห่างไกลจาก พระพุทธเจ้า ไม่ห่างไกลจากพระธรรม   เพราะพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรมะ  และธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า

เมื่อเจ้าฟ้าชายสิทธัตถะทรงถือกำเนิดขึ้นมาในโลกครั้งแรก    ก็ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า    เพราะเหตุใด?     เพราะในตอนนั้นท่านยังไม่ ่ตรัสรู้ธรรม   ต่อเมื่อท่านทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ด้วยการประพฤติปฏิบัติของท่าน   คือ รู้สัจจธรรม  รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดแห่งทุกข์  รู้ความดับ ทุกข์  รู้จักข้อประพฤติปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์   ท่านจึงทรงเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อเข้าใจธรรมะพระธรรมก็อยู่ที่ใจเรา
ฉะนั้นเมื่อเราถึงธรรมเราจะนั่งอยู่ที่ไหนเราก็รู้ธรรมะ    เมื่อเราเข้าใจในธรรมะพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจของเรา   พระธรรมก็อยู่ที่ใจของเรา  ข้อประพฤติปฏิบัติให้เกิดความเฉลียวฉลาดก็อยู่ที่ใจของเรา    เรียกว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติพร้อมด้วยกายวาจาจิตเช่นนี้แล้ว    เราจะเป็นผู้มอง ความดีความชั่วทั้งหลายด้วยความถูกต้อง คือ ถูกต้องตามสัจจธรรม

ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า   นี่คือความจริงหรือมันเป็นความจริงของโลก  ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงทิ้งโลก  คือ ทิ้งทั้ง สรรเสริญ  ทิ้งทั้งนินทา  ใครจะนินทาท่านก็ทรงรับว่ามันเป็นอย่างนั้น  ใครจะสรรเสริญท่านก็ทรงรับว่ามันเป็นอย่างนั้น   เพราะทั้งสอง อย่างนี้มันเป็นเรื่องของโลกทั้งนั้น  จิตใจของท่านก็ไม่ทรงหวั่นไหวเพราะอะไร?...ก็เพราะท่านรู้จักทุกข์ก็สิ่งทั้งสองนี้ทำให้ท่านทรงเกิด ทุกข์ หากท่านไปทรงเชื่อเข้าทุกข์มันก็เกิดเท่านั้นแหละ เมื่อทุกข์เกิดจิตก็กระสับกระส่ายไม่สบายอกไม่สบายใจ เมื่อจิตวุ่นวายจะยืนจะเดิน จะนั่งจะนอนก็มีแต่ความกระสับกระส่ายกระวนกระวายนั่นคือทุกข์

อะไรเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด?

ก็เพราะเราไม่รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้นทุกข์มันก็เกิด แล้วจะดับทุกข์นั้นอย่างไร ก็ไม่รู้จักไม่รู้จักวิธีดับอย่างถูกต้อง  คิดเอาเองว่าควรแก้ ทุกข์อย่างนี้อย่างนั้น ทุกข์ก็ยิ่งเกิดทวีขึ้นมาอีก เมื่อใดมองเห็นสัจจธรรมก็จะพ้นทุกข์  ดังนั้นท่านจึงสอนว่าให้รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ ทุกข์  คือน้อมธรรมะอันนี้เข้ามาในใจของเรา  ให้มองเห็นว่าเป็นสัจจธรรม   พิจารณาให้ละเอียดให้เห็นจริง    จนเป็นพยานของตนเองได้  พระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญบุคคลเช่นนี้ บุคคลที่เป็นอิสระ ไม่รับทั้งดี ไม่รับทั้งชั่ว  เพราะทั้งดีและชั่วเป็นเรื่องของโลก  เมื่อเป็นเรื่อง ของโลกมันเป็นอารมณ์ ถ้าหวั่นไหวไปตามอารมณ์ใจเรามันก็เป็นโลก  คลำโลกอยู่ตลอดเวลาก็เรียกว่าไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  ทุกข์มันก็ยิ่งกำเริบขึ้นมาเท่านั้น เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้วก็จะรู้ว่าเรายังไม่ชนะใจตัวเอง   เรายังชอบเอาชนะคนอื่นมันก็แพ้ตัวเองเท่านั้น  แต่ ถ้าเราเอาชนะตัวเองมันก็จะชนะทั้งตัวเองชนะทั้งคนอื่น  ชนะทั้งอารมณ์ ชนะทั้งรูปทั้งเสียงทั้งกลิ่นทั้งรส  ทั้งโผฏฐัพพะ  เป็นอันว่าชนะ ทั้งหมด

อันนี้พูดถึงเรื่องภายนอกมันเป็นอย่างนั้น แต่เรื่องภายนอกมันก็ทำให้มาเป็นเรื่องภายในด้วย บางคนก็รู้แต่ภายนอกไม่รู้ภายใน เช่น ท่านพูด คำๆหนึ่งว่า ให้เห็นกายในกาย ให้รู้กายแล้วก็ยังไม่พอ  ให้รู้กายในกายอีก  ให้พิจารณากายแล้วก็ให้พิจารณากายในกาย  แล้วก็ให้พิจารณา จิตและพิจารณาจิตในจิตอีกเป็นต้น ถ้าเราเป็นผู้ห่างเหินจากการภาวนาแล้ว ก็จะเก้อเขินหรือไม่เข้าใจรู้กายทำไม? กายในกายคืออะไร?  ที่ ให้รู้จิต?  จิตนี้มันคืออะไร?  ของในจิตนั้นมันคืออะไร  ก็เลยไม่รู้เรื่องเพราะเป็นผู้ไม่รู้จักทุกข์  ไม่รู้จักเหตุของทุกข์  ไม่รู้จักความดับทุกข์  ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ สิ่งที่ควรดับทุกข์ไม่ดับ  มัวไปสนใจในสิ่งที่มันไม่ดับ เช่นว่า  เราคันที่ศีรษะอย่างนี้แล้วเราไปเกาที่ขา มันก็ไม่ถูกจุดของมัน มันก็ไม่หายนี้เรียกว่าไม่รู้จุดที่จะให้มันระงับความคัน  มันก็เป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกับเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่รู้จัก ดับมัน  ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ก็ไม่รู้จักกัน   สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราทั้งหลายเก้อเขินมากเหลือเกิน 

เพราะความที่ไม่รู้จักรูปเวทนาสัญญาสังขาร   เช่น ร่างกายเรานี้ร่างกายที่เราเอามานั่งประชุมรวมกันอยู่นี้    ที่มองเห็นได้ด้วยตานั้น    ถ้า เห็นแต่รูปร่างกายเช่นนี้   อยู่เพียงเท่านี้มันจะเป็นเหตุให้ระงับความทุกข์หรือระงับเหตุให้เกิดความทุกข์นั้นไม่ได้เลย  ทำไม?  ก็เพราะว่า เราเห็นแต่กายข้างนอก   เรายังไม่เห็นกายข้างใน   เมื่อเห็นแต่ข้างนอกก็เห็น   แต่ว่าเป็นของสะสวยเป็นแก่นสารไปหมดทุกอย่าง   สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่า   แค่นี้ไม่พอที่เห็นข้างนอก  อย่างนี้เด็กๆมันก็เห็นได้  สัตว์ทั้งหลายมันก็เห็นได้ มันไม่ยากพอ  เห็น แล้วมันติด   เห็นแล้วมันก็ไม่รู้    เห็นแล้วมันก็ตะครุบๆ   แล้วมันก็กัด  เราเท่านั้นแหละ   มันเป็นเสียอย่างนี้     เพราะฉะนั้นจึงให้พิจารณา กายไปในกาย   อะไรที่มีในกายก็ค้นหาดูซิว่ามีอะไรในกาย  ให้เห็นว่าของในกายเรานี้มันมีอะไรอยู่บ้าง  ที่เราเห็นกายภายนอกนั้น   แต่มัน ไม่ชัดเจน    เห็นผมเห็นขนเห็นเล็บ   เห็นอะไรทั้งหลายก็มีแต่ของที่สะสวยไปทั้งนั้น    มันเป็นเครื่องย้อมใจเรา    เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า เห็นไม่ชัด   เห็นกายก็ไม่ชัด  ท่านจึงให้มองข้างในให้เห็นภายในกาย  แล้วก็ต้องมองเข้าไป    อีกว่ากายที่อยู่ในกายนี้มีอะไรอยู่บ้าง   ที่กาย เนื้อกายหนังนี้มีอยู่อย่างนี้    ในกายนั้นมันมีอะไรบ้าง     พิจารณาดูให้แยบคายเข้าไปเถอะเรา    ก็จะเห็นว่าในกายนี้มันมีอะไรหลายๆอย่าง สารพัด   ค้นเข้าไปดูแล้วก็แปลกใจทั้งนั้นแหละ   เพราะแม้แต่ของที่อยู่ในตัวของเรา   เราก็ไม่เคยเห็นเลย   แต่เราก็เดิน   เราก็อุ้มมันไปนั่ง รถ   ก็อุ้มมันไปทั้งนั้นแหละ   แต่เรายังไม่รู้จักมันเลยว่ามันเป็นอะไร   เป็นอย่างไร

เหมือนเรารับของฝากเขามา เขาเอาห่ออะไรให้เราเราก็ไม่รู้ จับได้ก็ยัดใส่ตระกร้าเดินมาเลย ไม่ได้เปิดเมื่อไปเปิดดูแล้วจึงเห็นมีแต่อสรพิษ ทั้งนั้น   กายเรานี้ก็เหมือนกันเราเห็นแต่เปลือกนอก   เราก็เห็นว่าสวยว่างามอะไรสารพัดอย่าง   จนลืมตัวลืมตนลืมอนิจจัง   ลืมทุกขัง   ลืม อนัตตา  ลืมอะไรๆทั้งนั้น  

ถ้าเรามองเข้าไปข้างในนั้นมันไม่น่าดูเลยนะ   กายของเรานี้ถ้าเอาของที่สะอาดมาใส่มันก็สกปรก   นี้เรื่องภายนอกก็สกปรกภายนอก    ส่วน เรื่องภายในก็สกปรกภายในเหมือนกัน  เรื่องภายในมันก็ยิ่งน่าดูยิ่งกว่านั้นอีก  ดูเข้าไปข้างในสิในกายของเรามีอะไรบ้าง  ถ้าเราดูตามความ เป็นจริงดูตามสัจจธรรมโดยไม่เข้าข้างตัวแล้ว   มันเห็นสิ่งที่น่าสลดน่าสังเวชน่าอะไรๆหลายๆอย่าง  มันน่าจะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย คำว่า"เบื่อหน่าย" ไม่ใช่ไปเกลียดไปโกรธมันนะ  แต่เป็นความกระจ่างของจิตเราเองเป็นความปล่อยวาง เห็นว่าอันนี้ไม่มีสาระประโยชน์ อะไรเลย   ไม่เป็นแก่นไม่เป็นสารอะไรเลย   เราเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมชาติ   เป็นธรรมดาเรื่องของเขา   เขาก็ตั้งของเขาอยู่อย่าง นั้นใครจะไปอยากให้เขาเป็นอย่างไร   เขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้นเอง    เราจะร้องให้ก็ดีเราจะหัวเราะก็ตาม   สังขารนี้ก็เป็นอย่างนี้    สิ่ง ที่ไม่เที่ยงมันก็ไม่เที่ยงสิ่งที่ไม่สวยมันก็ไม่สวยมันเป็นอยู่อย่างนั้นแหละ   ถึงคนจะรู้ถึงคนจะไม่รู้มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

ดังนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราท่านจึงว่า  เมื่อเราเห็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์เกิดขึ้นมาแล้ว   ควรปล่อยเขาไปเสีย   เมื่อหูได้ยินเสียงก็ปล่อยเขาไปเสีย  เมื่อจมูกได้กลิ่นก็ปล่อยเขาไปเสีย  เมื่อรสมันเกิดขึ้นกับลิ้นของเราก็ปล่อยมันไปเสีย   เมื่อโผฏฐัพพะที่ถูก ต้องด้วยกายเกิดขึ้นมาชอบใจไม่ชอบใจก็ปล่อยเขาไปเสีย ให้กลับไปที่เดิมของเขาเสีย

เรื่องธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจของเรานี้มันไม่ต้องอาศัยอะไร  ไม่ต้องอาศัยสัมผัสอะไรมันสัมผัสขึ้นที่ใจของมันเอง  เรียกว่าธรรมารมณ์ หรือธรรมะกับอารมณ์ เป็นส่วนดีก็เรียกว่ากุศล   เป็นส่วนที่ชั่วก็เรียกว่าอกุศล

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้ปล่อยไปตามเรื่องของเขาเสีย เรียกว่าเรารู้มันอย่างนี้แล้ว สุขก็ดีทุกข์ก็ดี สารพัดอย่างอยู่ในรูปอันเดียวกัน  การทำใจ ให้สงบเช่นนี้เรียกว่าการภาวนา

จิตกับภาวนา
การภาวนาคือการทำให้สงบ  เมื่อสงบแล้วก็คือทำให้รู้การทำให้สงบ หรือทำให้รู้นี้ต้องลงมือปฏิบัติกายกับจิตสองอย่างนี้ไม่ใช่อื่น  ความ   เป็นจริงสิ่งที่กล่าวนี้มันเป็นสิ่งละสิ่ง  เช่น รูปก็เป็นส่วนหนึ่ง   เสียงก็เป็นส่วนหนึ่ง   กลิ่นก็เป็นส่วนหนึ่ง   รสก็เป็นส่วนหนึ่ง  โผฏฐัพพะก็ เป็นส่วนหนึ่ง   ธรรมารมณ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง    แต่ละอย่างนี้ก็เป็นคนละส่วน    อยู่ๆแต่ท่านก็ให้เรารู้จักมันเสีย   แยกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออก  สรุปเป็นสุขทุกข์บ้าง  สุขเกิดขึ้นมาก็เป็นทุกเวทนา   ทุกข์มันเกิดขึ้นมาก็เรียกทุกข-เวทนา  เรื่องสุขกับทุกข์ท่านก็จัดไว้เพื่อให้แยกมันออก จากจิต   จิตก็คือผู้รู้เวทนานั้น   คืออาการที่มันสุขหรือทุกข์ ชอบใจไม่ชอบใจ เป็นต้น   เมื่อจิตของเราเข้าไปเสวยในอาการเหล่านั้น   เรียก ว่าจิตของเราเข้าไปยึดหรือหมายมั่น   หรือสำคัญมั่นหมายในความสุขนั้นในความทุกข์นั้นนั่นเอง

การที่เราเข้าไปหมายมั่นนั้นก็คือเรื่องของจิตอาการที่มันสุขหรือทุกข์นั้น  คือ อาการของเวทนาที่เป็นความรู้นั้น    เรียกว่าจิตของเราที่ชื่อ ว่าสุขหรือทุกข์นั้นมันเป็นเวทนา   ถ้ามันสุขก็เรียกว่าสุขเวทนา   ถ้ามันทุกข์ก็เรียกว่าทุกขเวทนา  การแยกจิตกับเวทนา  ที่ว่าจิตกับเวทนา นั้นท่านให้เรารู้จักแยกมันออกจากกัน   คำที่ว่าแยกออกไม่ใช่ว่าเอาไปทิ้งไว้คนละอย่างคนละที่     แต่ให้เราแยกโดยวิธีที่ทำจิตเราให้สงบ   เช่น คนที่ทำสมาธิให้ถึงที่  เป็นต้น    เมื่อจิตสงบแล้วก็พิจารณาแยกมันเสีย    เพราะความสงบนั้นมันล้นเหลือ    สุขนี้มันก็เข้าไปไม่ได้เข้า ไม่ถึง   ทุกข์นี้ก็เข้าไปไม่ถึงนี้    คือ ที่ว่าเวทนามันแยกอย่างว่าเรานั่งสมาธิ     ถ้าความสงบมันเข้ามาก่อน   เวทนาเกิดทีหลัง   เวทนามันก็ เดินเข้าไม่ถึง      จิตก็ไม่รับรู้เวทนามันแยกกันอยู่ในตัวของมันเองกับกายนั้น           พิจารณาให้รู้ว่าจิตที่เห็นเวทนานั้นเราเข้าไปยึดไหม?   ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมานั้นเราเข้าไปยึดไหม?   เราก็จะรู้ว่าจิตของเรามันเป็นเช่นนี้   จะรู้ว่าสุขมันเป็นอย่างนี้   ทุกข์มันเป็นอย่างนี้ เวทนา มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นคนละเรื่องกันอยู่

จะเปรียบก็คล้ายกับว่าน้ำมันกับน้ำว่ามันปนอยู่ในขวดเดียวกันก็ปนได้ แต่มันแยกที่อยู่กัน มันจะร่วมขวดกันก็ได้  แต่มันไม่ซึมซาบเข้าด้วย กัน แม้จะปะปนกันอยู่ น้ำมันก็เป็นน้ำมัน น้ำท่าก็เป็นน้ำท่า ทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่ามันมีน้ำหนักต่างกัน มันจึงแยกกันอยู่อย่างนั้น

นี้ก็เหมือนกันฉันนั้น  ถ้าปกติของจิตเราก็ไม่สุขไม่ทุกข์   เมื่อเกิดเวทนาเข้ามาก็เกิดสุขทุกข์อย่างนี้    ถ้าเรามีสติอยู่ก็จะรู้ว่าอันนี้เรียกว่าสุข  ที่เป็นสุขนั้นมันก็สุขอยู่   แต่จิตรู้ว่าสุขนั้นไม่เที่ยง  มันก็ไม่ไปหยิบเอาสุขอันนั้นสุขนั้น   มีอยู่ที่ไหนมีอยู่แต่มันอยู่นอกจิตไม่มีฝังอยู่ในดวง จิต  แต่ก็รู้ได้ชัดเจนหรือเมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาถ้ามันแยกเวทนาได้มันไม่รู้จักทุกข์หรือ?  รู้มันรู้จักทุกข์   แต่ว่าจิตมันก็เป็นจิตเวทนามันก็เป็น เวทนาจิตนั้น จะไม่ไปยึดทุกข์มาแบกไว้ว่าทุกข์ว่านี้มันเป็นทุกข์ นี่ก็เพราะเราไม่ไปยึดให้เกิดเป็นความสำคัญมั่นหมาย

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงแยกด้วยความรู้ท่านทรงมีทุกข์ไหม?   อาการของทุกข์นั้นท่านทรงรู้มัน    แต่ท่านไม่ไปสำคัญมั่น หมายมัน  ท่านทรงรู้อย่างนี้ก็เรียกว่าท่านทรงแยกทุกข์ออก   แยกเวทนาออก  ความสุขตามธรรมชาติรู้ไหม?  ความสุขนั้นมีแต่ท่านทรง รู้ว่าสุขนั้นเป็นพิษถ้าเราไม่รู้จักมัน   ท่านก็ไม่ไปสำคัญมั่นหมายสุขนั้นว่าเป็นตัวเป็นตนสุขนั้นมีอยู่หรือ?  มันมีอยู่ด้วยความรู้แต่ไม่มีอยู่ใน จิตใจของท่าน   เช่นนี้ก็รู้ได้ว่าท่านแยกสุขแยกทุกข์ออกจากจิตของท่าน  แยกเวทนาออกจากจิตของท่านทั้งที่มีอยู่ด้วยกันนั่นแหละ

คำที่กล่าวว่าพระพุทธองค์และพระอริยเจ้าของเราท่านตัดกิเลสแล้ว ท่านฆ่ากิเลสแล้วนี้ไม่ใช่ท่านไปฆ่ากิเลสหรอก   ถ้าท่านฆ่ากิเลสหมด แล้วเราก็คงไม่มีกิเลสน่ะสิเพราะท่านฆ่าไปหมดแล้ว  ความจริงท่านไม่ได้ฆ่ามันแต่ท่านรู้แล้วท่านก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน   ใครโง่ มันก็ไปจับเอาคนนั้นแหละ  ท่านรู้เฉพาะใจของท่านว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นพิษท่านก็เขี่ยมันออกไป   สิ่งที่ทำให้ท่านเกิดทุกข์ท่านก็เขี่ย มันออกไป  ไม่ได้ฆ่ามันหรอก  คนที่ไม่รู้ว่าท่านเขี่ยออกกลับเห็นว่าดีก็ไปตะครุบเอาเออ....อันนี้ดีนี่ก็ตะครุบเอาความเป็นจริงพระพุทธเจ้า ท่านทิ้ง อย่างสุขยังงี้ท่านก็เขี่ยออก  เราก็เห็นว่าดีก็ตะครุบเอาเลยจับใส่ย่ามไปเลยว่าของดีของเรา   ความเป็นจริงนั้นท่านรู้เท่ามันเมื่อสุข เกิดขึ้นมาท่านก็รู้ว่ามันเป็นสุข แต่ท่านไม่มีสุขท่านก็รู้อยู่ว่าอันนี้มันเป็นสุข  แต่ท่านไม่ไปสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นตัวเป็นตน  ว่าเป็นของ เขา ว่าเป็นของเราทั้งนั้น  อย่างนี้ท่านก็ปล่อยมันไปทุกอย่างก็เหมือนกัน

ความเป็นจริงสุขเวทนาทุกขเวทนากับจิตของเรานั้นมันเป็นคนละอย่างกัน   อย่างเดี๋ยวนี้เรานั่งอยู่นี่มันก็สบายนะ   แต่ถ้ามีไม้สักท่อนหนึ่ง ที่เราอยากได้เราไปแบกมันมันก็หนักนะ   ท่อนไม้นี้มันก็คือเวทนา  นี่แหละตัวความอยากได้  ท่อนไม้คือตัวจิตของเราที่เข้าไปแบกท่อนไม้ มันก็หนักใช่ไหม? มันหนักถ้าคนมีปัญญาแม้หนักเขาก็ไม่ทุกข์ รู้จักปล่อยมันเมื่อมันหนักเต็มที่เขาก็ปล่อยมัน ถ้าท่อนไม้นั้นมันมีประโยชน์ จะเอาไปใช้ประโยชน์ก็ให้รู้ทันมัน  หากรู้อย่างนั้นมันก็ค่อยยังชั่ว  ไม้มันจะได้ไม่ทับตาย   อย่างนี้จิตนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น   ทุกข์สุขมีโทษ
เสมอกัน

อาการของจิต คือ สุขเวทนาทุกขเวทนาสารพัดอย่างนั้น   มันเป็นอารมณ์มันเป็นส่วนโลกถ้าจิตรู้แล้วงานที่เป็นสุขท่านก็ทำได้   งานที่เป็น ทุกข์ท่านก็ทำได้ เพราะอะไร?   ก็เพราะท่านรู้จักสุขรู้จักทุกข์ตามที่เป็นจริง  ถ้าคนที่ไม่รู้จักสุขไม่รู้จักทุกข์นั้น  ก็จะเห็นว่าสุขกับทุกข์นั้น มันคนละระดับ มันคนละราคากัน ถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้วท่านจะเห็นว่าสุขเวทนากับทุกขเวทนามันมีราคาเท่าๆกัน ถ้าไปยึดในสุขนั่นก็คือ บ่อ เกิดของทุกข์  ทุกข์มันก็จะเกิดขึ้นมาเพราะอะไร?   นี้เพราะว่าสุขมันก็ไม่เที่ยงมันแปรไปมา   เมื่อสุขนี้มันหายไปทุกข์มันก็เกิดขึ้นมาดังนี้ เป็นต้น

พระพุทธองค์ท่านทรงรู้ว่าสุขทุกข์นี้มันเป็นโทษ  สุขทุกข์จึงมีราคาเท่ากัน   ดังนั้นเมื่อสุขทุกข์เกิดขึ้นท่านจึงปล่อยวางได้    สิ่งทั้งหลาย เหล่านี้มันมีราคาเสมอเท่ากันทั้งนั้น        เพราะฉะนั้นจิตใจของท่านจึงเป็นสัมมาปฏิปทา     เห็นสิ่งทั้งสองนี้มีทุกข์โทษเสมอกัน    มีคุณ ประโยชน์เสมอกันทั้งนั้น   และสิ่งทั้งสองนี้ก็เป็นของที่ไม่แน่นอน  ตกอยู่ในลักษณะของธรรมะว่าไม่เที่ยง  และเป็นทุกข์เกิดแล้วดับไป

ทั้งหมดเป็นอย่างนี้ เมื่อท่านเห็นเช่นนี้สัมมาทิฐิก็เกิดขึ้นมาเป็นสัมมามรรค จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนก็ตาม  หรือความรู้สึกนึกคิดทางจิต นั้นจะเกิดขึ้นมาก็ตาม ท่านก็รู้ว่าอันนี้เป็นสุขอันนี้เป็นทุกข์เสมอเลยทีเดียว ท่านไม่ได้ยึด

พระบรมศาสดาของเรานั้นเมื่อตรัสรู้มาใหม่ๆ ท่านเทศนาเรื่องกามสุขัลลิกานุโยโคอัตตกิลมถานุโยโค  ภิกษุทั้งหลายกามสุขัลลิกานุโยโค นั้นทางมันหย่อนอัตตกิลมถานุโยโคนั้น ทางมันตึงอันนี้ที่มันเล่นงานท่านมาตลอดทาง จนถึงวันที่ท่านตรัสรู้ธรรมะ  เพราะทีแรกท่านไม่ ได้ปล่อยมันพอ ท่านทรงจับตรงนี้ได้ก็ทรงปล่อยวางแล้ว จึงได้แสดงปฐมเทศนาให้สาวกฟังเลยว่ากามสุขัลลิกานุโยโคนั้น สมณะอย่าพึง เดินไปอันนั้นไม่ใช่ทางของสมณะ คือใครไปติด ใครไปยึด ไปสำคัญมั่นหมายอยู่ในกามนี้มันก็วุ่นวาย ความสงบไม่มีในที่นั้น  สมณะเกิด ขึ้นไม่ได้ท่านว่าทางนี้อย่าเดิน ส่วนอัตตกิลมถานุโยโคนั้น ทางนี้มันก็เหี้ยมโหดรุนแรง ทางนี้ก็อย่าเดินไปสมณะ ไม่อยู่ที่นี่ความสงบไม่มี อยู่ที่นี่ สมณะไม่เคยเกิดในทางนี้ ความสงบไม่อยู่อย่างนี้ คือทั้งสุขและทุกข์นี้สมณะอย่าเดินไป สุขก็อย่าลืมตัว ทุกข์ก็อย่าเดินไป ให้รู้ทัน มันมันจะเกิดทุกข์ก็ให้รู้ว่าจะเกิดทุกข์   เมื่อรู้จักทุกข์ก็รู้ทางที่จะให้เกิดทุกข์และรู้จักความดับทุกข์หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  ข้อ ปฏิบัตินี้ คือ การภาวนานี้เองสุขทุกข์เป็นเพียงสักว่าเท่านั้นพูดง่ายๆก็เรียกว่าเราต้องเป็นผู้มีสติ   คือมีความรู้ความระลึกอยู่เสมอ   อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้เราคิดอะไรอยู่   เราทำอะไรอยู่  เรามีอะไรอยู่เดี๋ยวนี้  เราดูอย่างนี้มีสติอยู่เสมอว่าเราอยู่อย่างไร   เรารู้ตัวอยู่ว่าขณะนี้เรามีอะไรอยู่  กำลังคิดอะไร กำลังสุขหรือกำลังทุกข์ ผิดหรือถูกอยู่เดี๋ยวนี้ 

ที่เราปรารภสิ่งทั้งหลายอยู่อย่างนี้ปัญญามันก็เกิดขึ้นมาแล้ว นั่นระลึกได้อยู่  รู้ได้อยู่  มันก็วิ่งไปหาปัญญาปัญญาก็เกิดขึ้นมา  เราก็วิพากษ์ วิจารณ์พิจารณา เราจะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนอยู่ก็ตามที มีความรู้อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา มันก็รู้จักผิด รู้จักถูก รู้จักพอดี รู้จักไม่พอดี  เมื่อ อารมณ์ที่พอใจเกิดขึ้นมาอยู่นี้ เราก็รู้จักเราไม่ไปสำคัญมั่นหมายมัน มันสักแต่ว่าสุขเมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา มันเป็นอัตตกิลมถานุโยโคเราก็รู้ว่า เออ...อันนี้ไม่ใช่ทางของสมณะ   เรียกว่าสักว่าทุกข์สักว่าสุขเป็นของ "สักว่า" เท่านั้น  อย่างนี้ก็เรียกว่าเราสามารถแยกจิตกับเวทนาออก จากกันได้แล้ว 

ถ้าจิตเราฉลาดเราก็ไม่ไปยึด   แต่วางเป็นผู้รู้เฉยๆ   รู้เท่าแล้วปล่อยไปตามสภาวะอันนั้น   ลักษณะของจิตกับเวทนาทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ แม้ว่าเราเจ็บป่วยขึ้นมา เราก็ยังรู้สึกว่าเวทนามันก็เป็นเวทนา จิตมันก็เป็นจิต   เป็นคนละอย่างกันอยู่  รู้จักเจ็บไหม?  รู้จักรู้จักสบายไหม? รู้จักแต่เราไม่ไปอยู่ในความสบายและความไม่สบายนั้นอยู่แต่ในความสงบ สงบอย่างไร  สงบจากความสบายนั้น  สงบจากความทุกข์นั้น อันนี้ชี้ให้เห็นอย่างนี้ เพราะมันไม่มีตัวตน จะอยู่อย่างไรก็ไม่ได้ มันก็ต้องอยู่อย่างนี้แหละ  คือหมายความว่าท่านไม่มีสุขไม่มีทุกข์  ท่านรู้ ว่ามันทุกข์อยู่เหมือนกัน แต่ท่านไม่ไปแบกมันไว้ เวทนานั้นมันไม่เกิดอย่างนี้ถ้าหากว่าปุถุชนเราก็จะว่ามันเป็นเรื่องแปลก  แต่จะเป็นปุถุชน ก็ช่างเถอะ ให้เรามุ่งไปตรงนั้นเลยทีเดียว

มันมีอยู่อย่างนั้น จิตมันก็เป็นส่วนจิตอยู่อย่างนั้น เราพบสุขทุกข์ก็ให้เห็นว่ามันเป็นส่วนสุขทุกข์อยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรกับมัน มันแยกกันอยู่ ไม่ใช่ว่ามันปนกันอยู่ถ้ามันปนกันเราก็ไม่รู้ทั่วถึงมันเท่านั้นแหละ  ความเป็นจริงลักษณะอันนี้มันแยกกันอยู่นี้  คือ เรื่องของกายกับจิตแม้ว่า มันจะรวมกันอยู่อย่างนี้ก็ตาม   อย่างว่าบ้านเรากับเราที่อยู่ในบ้านมันก็เนื่องกันอยู่อย่างนั้นแหละ   ถ้าบ้านของเรามีอันเป็นไป  จิตเราก็เป็น ทุกข์เพราะถือเป็นเจ้าของ ความจริงก็มันคนละคน นี่อันหนึ่งมันเจ้าของบ้านอันหนึ่ง มันบ้าน มันเป็นอยู่อย่างนั้นเองของมัน   มันไม่ใช่อัน เดียวกัน   ดังนั้นจิตก็ดีเวทนาก็ดีถึงเราจะพูดแยกมันออกอย่างนี้ก็ตาม  แต่ความจริงมันก็แยกของมันอยู่แล้ว  คือเพียงเรามารู้ตามเป็นจริง ของมันเท่านั้น  มันรู้จักแยกของมันเอง  มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว  ที่ไปเห็นว่ามันไม่แยกก็เพราะว่าเราไปยึดมั่นถือมั่นมัน  ด้วยเรา ไม่รู้ตามเป็นจริงมันก็คุมกันอยู่อย่างนั้นแหละ ก็เหมือนช้อนที่เราซดแกงนั่นแหละ   แกงมันก็เป็นอย่างหนึ่ง   ถ้าคนเรารู้จักว่าอันนี้เป็นแกง  อันนี้เป็นช้อนมันก็สบายนะ เอาซดน้ำแกงแล้วก็เอามันวางไว้ มันก็สบายถ้าเราไปแบกช้อนอยู่มันก็ลำบากสิ ไม่เห็นช้อนเป็นช้อน ไม่เห็นแกง เป็นแกง ไม่เห็นเวทนาเป็นเวทนา ไม่เห็นจิตเป็นจิตมันก็ยุ่งเท่านั้นแหละ

การปฏิบัติทั้งหมดเป็นเรื่องของจิต  ถ้าเราคิดกันได้เช่นนี้  จะยืนมันก็แยกกันอยู่   จะเดินจะนั่งจะนอนมันก็แยกกันอยู่   มันก็มีสุขทุกข์สลับ ซับซ้อนกันอยู่ทุกเวลานั่นเอง  ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงให้เราภาวนา  การปฏิบัติภาวนานี้เป็นของสำคัญ  รู้เฉยๆไม่พอหรอก  รู้เกิด จากการปฏิบัติที่จิตสงบ  กับรู้ที่เราเรียนมานั้นมันไกลกันอยู่มากทีเดียว  มันไกลกันมาก  รู้ในการศึกษาเล่าเรียนนั้นมันไม่ใช่จิตของเรารู้  รู้ แล้วมันตะครุบไว้ เก็บไว้ทำไม? เก็บไว้เพื่อให้มันเสียเสียแล้วก็ร้องให้ ถ้าเรารู้แล้วก็มีการปล่อยวาง รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเราก็ไม่ลืมตัว เมื่อ ถึงคราวทุกข์เจ็บไข้มาเราก็ไม่หลง บางคนคิดว่าเออ..ปีนี้ฉันเป็นไข้ตลอดปีนะ ไม่ได้ภาวนาเลยนี้คือคำพูดของคนที่โง่ที่สุดเลย คนเป็นไข้ คนจะตายนี้มันควรจะรีบภาวนายิ่งขึ้น   อันนี้ยิ่งไปพูดว่าเราไม่มีเวลาภาวนาเสียแล้ว  ความเจ็บมันก็เกิดขึ้นมา   ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นมา  ความไม่ไว้ใจในสังขารเหล่านั้นมันก็มีมา   แล้วก็ยังเข้าใจว่าเรายังไม่ได้ภาวนา 

พระพุทธองค์ท่านไม่ตรัสอย่างนั้น ท่านตรัสว่านั่นแหละมันกำลังถูกที่ ที่เราปฏิบัติละจวนจะเจ็บจะไข้จะตายยิ่งเร่งยิ่งรู้ยิ่งเห็น สัจจธรรม มันเกิดเดี๋ยวนั้นแหละ   ถ้าเราไปคิดเช่นนั้นมันก็ลำบากนะบางคนก็คิดว่าไม่มีโอกาส   มีแต่การงานทั้งนั้น   ไม่มีโอกาสที่จะภาวนา   เคยมี อาจารย์หลายคนมาที่นี่  อาตมาถามว่าทำอะไร  เขาตอบว่าสอนเด็กมีงานมากสารพัดอย่าง  วุ่นไม่มีเวลาจะภาวนา อาตมาถามว่าเมื่อสอน เด็กนักเรียนน่ะคุณมีเวลาหายใจไหม?   มีครับ   อ้าว...ทำไมมีเวลาหายใจล่ะ?  ที่ว่าสอนเด็กอยู่งานมันยุ่งนี่คุณห่างไปไกลไป

ความเป็นจริงเรื่องปฏิบัติมันเป็นเรื่องของจิต    เรื่องความรู้สึกไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปวิ่งไปเต้นอะไรมากมาย   เป็นเรื่องความรู้สึกเท่านั้น  ลมหายใจนั้นเราทำงานอยู่เราก็หายใจเรื่อยไป    เราพยายามแต่เพียงให้มีสติให้รู้เท่านั้น   พยายามเรื่อยๆเข้าไป   ให้เห็นชัดเข้าไป   การ ภาวนาก็เหมือนกันฉันนั้น  ถ้าเรามีความรู้สึกอยู่อย่างนี้จะทำงานอะไรอยู่ก็ตามเถอะ  มันจะยิ่งทำให้การทำงานเหล่านั้นทำอย่างรู้ผิดชอบ อยู่เสมอ ให้คุณเข้าใจเสียใหม่อาตมาบอกเขาอย่างนี้ เวลาที่จะภาวนานั้นมันเยอะคุณเข้าใจไม่ถึงเฉยๆหรอก   นอนอยู่ก็หายใจได้ใช่ไหม? อยู่ที่ไหนก็หายใจได้ ทำไมมันจึงมีเวลาล่ะ  ถ้าคุณคิดอย่างนี้ชีวิตของคุณก็มีราคาเท่ากับลมหายใจแล้ว  มันจะอยู่ที่ไหนก็มีเวลาความรู้สึก นึกคิด   มันเรื่องของนามธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องของรูปธรรม    ดังนั้นเพียงแต่ให้มีสติอย่างเดียวเท่านั้นก็จะรู้จักความผิดชอบอยู่ตลอดกาล  ทั้งการยืนเดินนั่งนอนเหล่านั้น   เวลามันเยอะไปเราไม่ฉลาดในเรื่องเวลาของเราเอง  อันนี้ให้คุณเอาไปพิจารณาดูมันเป็นอย่างนี้

เมื่อแยกจิตและเวทนาออกได้ก็มีความฉลาดในจิตเรื่องเวทนานี้เราจะหนีมันไปไหนไม่ได้  เราต้องรู้มันเวทนา  ก็สักแต่ว่าเวทนาสุข  ก็สัก แต่ว่าสุขทุกข์ ก็สักแต่ว่าทุกข์  มันเป็นของสักว่าเท่านั้นแหละ  แล้วเราจะไปยึดมั่นถือมั่นมันทำไม  ถ้าจิตเราฉลาดแล้วเพียงคิดเท่านี้มันก็ แยกเวทนาออกไปจากจิตได้ เวทนานี้สักว่าเวทนามันก็เห็นสักว่าเท่านั้น  ทุกข์มันก็สักว่า  ทุกข์สุขมันก็สักว่า  สุขมันก็แยกกันเท่านั้นแหละ  แล้วมันมีอยู่ไหม? มีแต่มันมีอยู่นอกใจ มันมีด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้ไปทำความสำคัญมั่นหมายกับมัน มีแล้วมันก็คล้ายๆกับว่ามัน ไม่มีเท่านั้นเองแหละ นี้เรียกว่าการแยกเวทนาออกจากจิต เพราะรู้ว่าจิตมันเป็นอย่างไร เวทนามันเป็นอย่างไร  จิตก็คือตัวที่เข้าไปรู้ในสุข เป็นตัวที่ละเอียด เข้าไปแล้วตามเข้าไปให้รู้ว่าสุขนั้นมันแน่หรือเปล่า ทุกข์นั้นมันแน่หรือเปล่า เมื่อเราตามเข้าไปเช่นนี้ ปัญญามันก็เกิดขึ้น ที่จิต มันก็แยกสุขทุกข์ออก สุขมันก็กลายเป็นว่าสักว่า ทุกข์มันก็กลายเป็นว่าสักว่า  ไม่เห็นมีอะไร   อะไรมันก็เป็นของสักว่าเท่านั้น   เรามี ความรู้อยู่อย่างนี้ตลอดต้นจนปลายเท่านั้น   จิตของเรามันก็ปล่อยวาง   แต่ไม่ใช่ปล่อยวางด้วยความไม่รู้นะ   มันวางและก็รู้อยู่ไม่ใช่วาง ด้วยความโง่ ไม่ใช่วางเพราะไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น คือ วางเพราะรู้เห็นตามความเป็นจริงว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น  นี้เรียกว่าเห็น ธรรมชาติหรือเห็นของธรรมดา เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้วเราก็เป็นผู้ชำนาญในจิต รู้จักตามรักษาจิต ฉลาดในจิตของตน  ฉลาดในการรักษาจิต ของตน   เพราะฉะนั้นเมื่อฉลาดในจิตก็ต้องฉลาดในอารมณ์  เมื่อฉลาดในอารมณ์ก็ย่อมฉลาดในโลกอย่างนี้เป็นต้น

นี้เป็นโลกวิทูพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลกอยู่ท่ามกลางสิ่งที่มันยุ่งยาก   ท่านก็รู้ในสิ่งที่มันยุ่งนั้นแหละ  โลกนี้เป็นของวุ่นวาย  ทำไม พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงรู้แจ้งโลกได้?    นี้ให้เราเข้าใจว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้  ไม่มีอะไรที่จะเหนือความสามารถของ พวกเราทั้งหลายนั่นเอง  เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จิตเป็นจิตเวทนาเป็นเวทนาเท่านี้มันก็แยกกันออกเป็นคนละอย่างคนละตอน  จิตมันก็พ้นได้ สบายอารมณ์ มันก็เป็นอย่างนั้นของมันเอง เกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้น มันเกิดแล้วก็ดับไป ดับแล้วก็เกิดแล้วก็ดับมันก็เป็นอยู่เท่านั้น  เรารู้แล้ว เราก็ปล่อยให้มันไปตามเรื่องของมันอยู่อย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้รู้เห็นตามที่เป็นจริง อันนี้ปัญหามันก็จะจบลงที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น แม้เราจะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนก็ขอให้มีการประพฤติปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดกาล ความสงบเป็นบ่อเกิดของปัญญา   เรื่องที่ถึง คราวนั่งสมาธิเราก็ทำไปให้เข้าใจว่าการทำสมาธิก็เพื่อให้เกิดความสงบความสงบนั้น  มันจะเพาะกำลังให้เกิดเท่านั้นแหละ  ไม่ใช่ว่านั่ง สมาธิเพื่อจะตามไปเล่นอะไรมากมายหรอก   ดังนั้นการทำสมาธิก็ต้องให้มันสม่ำเสมอ   การทำวิปัสสนา ก็คือ การทำสมาธินั่นเองแหละ  บางแห่งเขาก็ว่าบัดนี้เราทำสมาธิต่อไปเราจึงจะทำวิปัสสนาบัดนี้เราทำสมถะ เป็นต้น  อย่าให้มันห่างกันอย่างนั้นสิสมถะ  นี้แหละคือบ่อ เกิดของปัญญา ปัญญานี้ก็คือผลของสมถะ   จะไปถือว่าบัดนี้เราทำสมถะต่อไปเราจะทำวิปัสสนา  อย่างนั้นมันแยกกันไม่ได้หรอก  มันจะ แยกกันได้ก็แต่คำพูด เหมือนกับมีดเล่มหนึ่งนะคมมันก็อยู่ข้างหนึ่ง สันมันก็อยู่อีกข้างหนึ่ง นั่นแหละมันแยกกันไม่ได้หรอก ถ้าเราจับด้าม มันขึ้นมาอันเดียวเท่านั้นมันก็ติดมาทั้งคมทั้งสันนั่นแหละ

ความสงบนั้นมันก็ให้เกิดปัญญา ในตรงนั้นให้เข้าใจว่ามันเป็นท่อนฟืนดุ้นเดียวกันนั่นแหละ มันมีมาจากไหนล่ะ? มันไม่มีพ่อแม่เกิดมานะ ธรรมะจะเกิดขึ้นที่ไหน?    ศีล ก็คือ พ่อแม่ของธรรมะนี้   คือ สงบหมายความว่าความผิดทางกายทางใจมันไม่มี     เมื่อไม่มีมันก็เป็นศีล และมันก็ไม่เดือดร้อน   เพราะมันไม่มีความผิด   ทีนี้เมื่อไม่เดือดร้อนความสงบระงับมันก็เกิดขึ้นมา   นี้คือจิตเกิดความสงบขึ้นมาแล้วใน ตัวของมันเอง   ศีลสมาธิปัญญาเป็นทางเดินสู่พระนิพพานอันนี้ท่านจึงว่าศีลก็ดี    สมาธิก็ดี   ปัญญาก็ดี    มันเป็นทางของพระอริยเจ้าจะ ดำเนินเข้าไปสู่พระนิพพานมันเป็นอันเดียวกัน ถ้าพูดให้สั้นเข้ามาศีลก็ดี สมาธิก็ดี  ปัญญาก็ดีมันเป็นอันเดียวกัน  ศีลก็คือสมาธิ  สมาธิก็คือ ศีล สมาธิก็คือปัญญา   ปัญญาก็คือสมาธิ   ก็เหมือนมะม่วงใบเดียวกันนั่นแหละ   เมื่อมันเป็นดอกขึ้นมามันก็ดอกมะม่วง  เมื่อเป็นลูกเล็กๆก็ เรียกว่าผลมะม่วง  เมื่อมันโตขึ้นมามันก็เรียกว่ามะม่วงลูกโต  มันโตขึ้นไปอีกก็เป็นมะม่วงห่าม  เมื่อมันสุกก็คือมะม่วงสุก  มันก็มะม่วงลูก เดียวกันนั่นแหละ   มันเปลี่ยนๆๆๆไปมันจะโตมันก็โตจากเล็ก   เมื่อมันเล็กมันก็เล็กไปหาโตจะว่ามะม่วงคนละใบก็ได้จะว่าใบเดียวกันก็ถูก ศีลก็ดีปัญญาก็ดีมันก็เกี่ยวเนื่องกันอยู่อย่างนั้น    ผลที่สุดแล้วก็ต้องเป็นมรรคเดินทางเข้าไปสู่กระแสของพระนิพพาน   มะม่วงตั้งแต่เป็น ดอกมา เป็นต้น  มันก็ดำเนินไปถึงที่มันสุกก็พอแล้วนี่  ให้เราเห็นเช่นนี้ ถ้าเราเห็นเช่นนี้เราก็ไม่ว่ามันเขาจะเรียกให้เป็นอะไรก็ช่างมัน  เมื่อ มันเกิดขึ้นมาแล้วมันจะแก่จะเป็นอะไรไปก็ตามพิจารณาไปเถอะ  บางคนก็ไม่อยากจะแก่ แก่แล้วก็น้อยใจ งั้นก็อย่ากินมะม่วงสุกสิ จะอยาก ให้มะม่วงสุกทำไมล่ะ   เมื่อสุกไม่ทันเราก็เอามันไปบ่มไม่ใช่หรือ?   ถึงเราจะแก่ก็ไม่ต้องบ่นน้อยใจ   บางคนก็ร้องให้กลัวว่ามันจะแก่ตาย ยังงั้นมะม่วงสุกก็ไม่ต้องกินสิ กินดอกมะม่วงดีกว่า นี้แหละถ้าเราคิดอย่างนี้มันก็เห็นธรรมะกระจ่างออกมา  เราก็สบายมีแต่จะตั้งหน้าตั้ง ตาประพฤติปฏิบัติไปเท่านั้น

 
                                                                              

 
Google
 


  ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอน
      ศีล 5
  โลกธรรม 8
  
  
หลวงปู่ชา
    
เรื่องจิตนี้
     เหนือเวทนา
  
  
พุทธทาส
    
อาหารของดวงใจ
     ทางเดินของชีวิต
     

Last Update :  14 March, 2011