HOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรก
บทนำ
    
    
    
    
    
    
    






Google

 
โรคกรดไหลย้อน Gastroesophageal Reflux Disease (GERD)

โลกปัจจุบันทุกวันนี้ อะไรๆก็ดูจะรีบเร่งไปเสียหมด   การดำรงชีวิตของมนุษย์เราก็เลยเร่งรีบตามไปด้วย   จนบางครั้งมันส่งผลกระทบต่อ กระบวนการต่างๆภายในร่างกายโดยเราเองไม่รู้ตัว"โรคกรดไหลย้อน"หรือที่เรียกกันง่ายๆสั้นๆว่า "GERD" นั้น ก็เป็นโรคหนึ่งที่ผู้ คนในปัจจุบันนี้เป็นกันมาก   โดยเฉพาะคนทำงาน Office ที่มีกิจวัตรประจำวันเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้ง่าย  ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทุก วันนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอาการ GERD  บางครั้งมันก็ห่างหายไปนาน  แต่บางครั้งมันก็กลับมาเยี่ยมเยือนและอยู่กับเราไปนาน  ได้รับรู้ รสชาดของมันเป็นอย่างดี  จึงคิดที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาเผยแพร่ไว้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้คนที่เป็นและยังไม่เป็นโรค นี้

ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์  สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร  ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ให้ราย ละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ว่า

"โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขี้นไปในหลอดอาหาร โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้   โรคนี้มีความสำคัญคือผู้ป่วยจะมีอาการแสบยอดอกและ หรือร่วมกับมีภาวะเรอเปรี้ยว (รู้สึกเหมือนมีกรด ซึ่งมีความรู้สึกเหมือนมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือปาก) ภาวะนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบหรือเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรงจนทำให้ปลายหลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ ของเยื่อบุหลอดอาหารได้      บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็ง หลอดอาหารได้ ในบางรายผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการทางด้านของโรคหู คอ จมูก อาทิ ไอเรื้อรังเสียงแหบเรื้อรัง หรืออาจมาด้วยอาการทางระบบหายใจ เช่นหอบหืด หรืออาจมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ หรือมีกลิ่นปาก เป็นต้น"

 
   

 

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ   อาทิการคลายตัวของหลอดอาหารส่วนปลายโดยที่ไม่มีการ กลืน  พบว่าคนไข้โรคนี้จะมีจำนวนครั้งของภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าในคนปกติ ซึ่งสาเหตุนี้ถือเป็นภาวะสำคัญของโรคนี้  - ความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าในคนปกติ หรือเกิดมีการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น  -  เกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร  - อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิดหรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

 
 


จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน

อาการสำคัญคืออาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ อาการนี้จะเป็นมากขึ้น หลังรับประทานอาหารมื้อหนัก  การโน้มตัวไปข้างหน้า  การยกของหนัก  หรือการนอนหงาย อาการสำคัญอีกประการก็คือ อาการเรอเปรี้ยว คือมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก โดยคนไข้อาจมีทั้ง 2 อาการ หรืออาการใดอาการหนึ่งก็ได้ ในคนไทยที่เป็นโรคนี้บาง ครั้งอาจพบอาการนี้ไม่ชัดเจนอย่างคนไข้ในแถบตะวันตก    หรือในอเมริกา อาการอื่นๆที่อาจพบได้



 
 
อาทิ ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหรือกลืนลำบาก  ในรายที่เป็นมากบางรายอาจมาด้วยอาการที่ไม่ใช่อาการของหลอดอาหาร อาทิ เจ็บหน้าอก จุกที่คอ มีอาการคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ เสียงแหบ หรือเจ็บคอเรื้อรัง หอบหืด หรือ หากมีกลิ่นโดยหาสาเหตุไม่ได้

โรคนี้พบในเด็กได้ไหม?

สามารถพบโรคนี้ได้ตั้งแต่ทารกจนถึงเด็กโต ในเด็กเล็กอาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้

จะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร

โดยปกติแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการดังที่กล่าวมา โดยผู้ป่วยที่มีอาการทั้งแสบยอดอกและ/หรือเรอเปรี้ยว (ทั้งนี้ไม่ควรมีอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคอื่น อาทิ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้) แพทย์สามารถวินิจฉัยได้เลยว่าผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนและให้การรักษาเบื้องต้นได้เลย โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการ

 
 

ตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม เช่นการส่องกล้องทางเดินอาหาร การกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน เป็นต้น

จะปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเป็นโรคนี้

โดยทั่วไปเป้าหมายของการรักษาแพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขี้น รักษาอาการ

 
 
อักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันผลแทรกซ้อน การรักษาประกอบไปด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้องรักษาและการผ่าตัด โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
  • หลีกเลี่ยงการดิ่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อคโกแลต
  • ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป
  • ระวังอาหารมื้อเย็น ไม่กินในปริมาณมากและไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆแต่บ่อยครั้ง
  • ไม่ใส่เสื้อรัดรูปเกินไป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • นอนตะแคงซ้ายและนอนหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว
 
 


เมื่อปฏิบัติตัวเบี้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรทำอย่างไร

ถ้าการปฏิบัติตัวเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น  จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย  โดยยาที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันคือยาลดกรดในกลุ่ม  Proton pump inhibitors  ซึ่งได้ผลดีกว่ายาในกลุ่ม H2 blocker receptor antagonist  และดีกว่ากลุ่มยาที่กระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร     โดยที่แพทย์จะให้รับประทานยาในกลุ่มนี้เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์   ในบางรายที่เป็นมาก  อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นแบบ ช่วงระยะเวลาสั้นๆหรือไม่กี่วันตามอาการที่มี หรือกินติดต่อกันตลอดเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ดีการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์   ในรายที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาการรักษาด้วยการส่องกล้อง หรือการผ่าตัด

สำหรับยาในกลุ่มที่มีผลต่อการลดจำนวนการคลายตัวของหูรูดนั้นยังมีอยู่จำนวนไม่มาก และยังมีผลข้างเคียงอยู่พอสมควร

 

 

ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ป่วย GERD ควรทราบเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนไว้ดังต่อไปนี้

1. โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด (ยกเว้นจะผ่าตัดแก้ไข) จะเป็นๆ หายๆ อาการจะดีขึ้นหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ยา อยู่ที่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

2. อาการปวดแสบร้อน บริเวณหน้าอก, ลิ้นปี่ และคอ เกิดจากกรดที่ไหลขึ้นมาจากกระเพาะผ่านบริเวณหน้าอก, ลิ้นปี่และคอ ทำให้เกิดอาการปวดแสบร้อนบริเวณดังกล่าว

3. การที่เรอ คลื่นไส้ หรือมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่อก หรือคอ เกิดจากการที่ความดันช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจาก

3.1) รับประทานอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ

3.2) รับประทานอาหารที่ไม่แนะนำให้รับประทานโดยเฉพาะๆ อาหารที่ปรุงด้วย การผัด และการทอดทุกชนิด (อาหารมัน จะย่อยยาก ทำให้ท้องอืดได้ง่าย), นม (รับประทานได้เฉพาะนมไร้ไขมัน คือ FAT=0%), น้ำเต้าหู้ (ทำจากถั่ว จะทำให้เกิดแก๊สในช่องท้องมาก), ชา และกาแฟ (ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะและหลอดอาหารส่วนปลายหย่อน), ไข่ (รับประทานได้เฉพาะไข่ขาว), น้ำอัดลม (ทำให้เกิดแก๊สในช่องท้องมาก)

3.3) น้ำหนักตัวที่เพิ่ม หรือ เกินค่าปกติ (การที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น)

3.4) ท้องผูก (ทำให้ต้องเบ่ง เวลาถ่าย ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น) อาจต้องรับประทานยาถ่าย อย่างไรก็ตามการรับประทานยาถ่าย เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ควรแก้ที่ต้นเหตุโดยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น (ดื่มน้อยๆแต่บ่อยๆ), รับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากให้มากขึ้น, ออกกำลังกายแบบแอโรบิก [การออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานฝืด (แบบปรับน้ำหนักได้เช่น ใน FITNESS), เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล]

3.5) ขาดการออกกำลังกาย (การออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะทำให้กระเพาะ และลำไส้ เคลื่อนตัวได้ดี และลดอาการท้องอืด จุก เสียด แน่นท้อง)

4. รสเปรี้ยว ในปากหรือลำคอ เกินจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมา ส่วนรสขม ในปากหรือลำคอ เกิดจากน้ำดีที่ไหลย้อนขึ้นมา

5. เสียงแหบ เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาไปโดนสายเสียงที่อยู่ทางด้านหน้า ทำให้สายเสียงบวม ปิดไม่สนิท เกิดลมรั่ว ทำให้มีเสียงแหบได้ ที่มีเสียงแหบตอนเช้า เกิดจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน สายเสียงจึงถูกกรดสัมผัสมากกว่าช่วงอื่นๆของวัน ทำให้ขณะตื่นมาตอนเช้า มีเสียงแหบได้

6. ไอเรื้อรังเกิดจากกรดไหลย้อนลงไปในหลอดลม ทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยหลอดลมจะมีความไว ต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ของฉุน, ฝุ่น, ควัน, อากาศที่เปลี่ยนแปลงมากผิดปกติ การที่มีอาการมากหลังรับประทานอาหาร มักเกิดจากรับประทานอาหารที่ไม่ควรรับประทาน (ดูข้อ 3.2) ทำให้มีความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ทำให้กรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้ไอหลังรับประทานอาหาร ส่วนการที่ไอตอนกลางคืน หรือก่อนนอนมักเกิดจาก

6.1) ห้องนอนอาจรก มีฝุ่นมาก เวลาสูดหายใจเข้าไป จะไปกระตุ้นภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้ไอกลางคืน หรือไอช่วงเช้า จึงควรจัดห้องนอน ตามคำแนะนำของแพทย์

6.2) อากาศในห้องนอนอาจเย็นเกินไป ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น โดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า ถ้าต้องการเปิดแอร์ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียสเพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลมไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมพอสมควร ไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้า หรือผ้าพันคอ เวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้าหรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว ควรใส่เสื้อหนาๆ หรือใส่เสื้อ 2 ชั้น และกางเกงขายาวเข้านอน

6.3) เวลานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลานั่งหรือยืน

7. อาการจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย มักเกิดจาก สาเหตุเดียวกับข้อ 3

8. อาการหอบหืด (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นนั้น เกิดจากกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้มีภาวะหลอดลมอักเสบเพิ่มมากขึ้น

9. อาการที่รู้สึกคล้ายมีก้อนในคอ หรือแน่นคอ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ หรือกลืนลำบาก คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในคอ เกิดจากกรดไหลย้อนไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ทำให้มีความรู้สึกดังกล่าว การรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน อาจช่วยให้อาการดังกล่าวลดน้อยลง นอกจากนั้นการที่กรดไหลขึ้นไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ หรือลิ้นทำให้กล้ามเนื้อคออักเสบ หรือลิ้นอักเสบ ทำให้มีอาการ กลืนเจ็บ, เจ็บคอ, แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นได้ ที่มีอาการมากช่วงเช้า ก็เนื่องจากเหตุผลเดียวกับข้อ 5

10. การที่มีเสมหะอยู่ในคอตลอด เกิดจากการที่กรดไหลขึ้นมา สัมผัสกับต่อมสร้างเสมหะในลำคอ และกระตุ้นทำให้ต่อมดังกล่าวทำงานมากขึ้น นอกจากนั้นการที่กรดไปกระตุ้นเส้นประสาทในคอ อาจทำให้มีอาการคันคอ หรือระคายคอได้ และเมื่อกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้มีอาการกระแอมไอได้

11. อาการเจ็บหน้าอก เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาผ่านหลอดอาหาร ที่อยู่ในช่องอก ทำให้มีอาการดังกล่าวได้ และเมื่อกรดไหลลงไปในหลอดลม และปอด ทำให้มีอาการอักเสบของปอดเป็นๆ หายๆได้

12. อาการไอ, สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน เกิดจากกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบ และมีการหดตัวของหลอดลม ที่มักเป็นในเวลากลางคืน เนื่องจากเหตุผลข้อเดียวกับข้อ 5 เวลานอน จึงควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น เริ่มประมาณ 1/2-1 นิ้วจากพื้นราบก่อน โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ถ้านอนพื้น หรือไม่สามารถยกเตียงได้ ให้หาแผ่นไม้ขนาดเท่าฟูก รองใต้ฟูก แล้วใช้ ไม้ หรืออิฐ ยกแผ่นไม้ดังกล่าวขึ้น

13. การที่กรดไหลย้อนออกไปนอกหลอดอาหาร อาจไปถึง

13.1) เยื่อบุจมูกทางด้านบน ทำให้มีอาการคัน, จาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหล หรือมีเสมหะไหลลงคอได้ หรือทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ของจมูกอยู่แล้ว มีอาการแย่ลงได้

13.2) ถ้ากรดขึ้นไปสูงถึงรูเปิดของหูชั้นกลางที่อยู่ที่โพรงหลังจมูก อาจทำให้รูเปิดดังกล่าวบวม ทำให้ท่อยูสเตเชียนที่เชื่อมต่อระหว่าง หูชั้นกลางและโพรงหลังจมูกทำหน้าที่ผิดปกติไป ทำให้เกิดหูอื้อ เป็นๆ หายๆ หรือมีอาการปวดหูได้

13.3) ถ้ากรดไหลเข้าไปในช่องปาก อาจกระตุ้นต่อมสร้างน้ำลาย ทำให้มีน้ำลายมากผิดปกติ หรือกรดไปกัดกร่อนฟัน ทำให้เกิดฟันผุ หรือเสียวฟันได้ การที่กรดไหลย้อนขึ้นมา ทำให้พาเอากลิ่นอาหารในกระเพาะอาหารขึ้นมาด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุของการมีกลิ่นปากได้

14. โรคนี้ แพทย์มิได้ให้ผู้ป่วยรับประทานยาไปตลอดชีวิต เมื่อผู้ป่วยปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ทั้งนิสัยส่วนตัว, นิสัยในการรับประทานอาหาร และนิสัยการนอน แพทย์จะค่อยๆลดขนาดยาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหยุดยาได้

15. ไม่ควรปรับยารับประทานเอง ในระยะแรก นอกจากแพทย์อนุญาต ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังให้การรักษาประมาณ 1 – 3 เดือน ซึ่งจะดีขึ้น เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยว่า จะลดเหตุ (ข้อ 14) ได้มากน้อยเพียงใด

16. โรคนี้ถึงแม้ว่าแพทย์จะให้หยุดยาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้หายขาด ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมามีอาการใหม่ได้ ถ้าปฏิบัติตนออกนอกคำแนะนำที่ให้ไว้ เช่น ไปรับประทานอาหารที่แนะนำให้หลีกเลี่ยง เป็นต้น จะทำให้มีอาการกลับมาเป็นอีกได้ ซึ่งเมื่อมีอาการกลับมาใหม่ ให้รับประทานยาที่แพทย์ให้ไว้ รับประทานเวลามีอาการ ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีอาการดีขึ้น หรืออาการน้อยลง สามารถจะหยุดยาดังกล่าวได้

จากข้อมูลที่รวบรวมมาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า  ผู้ที่มีอาการของ GERD อยู่แล้วจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากแพทย์ทั้งสองท่านนี้ไปใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพและใช้ชีวิตอยู่กับ GERD ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น    ส่วนท่านที่ยังไม่มีอาการของโรคดังกล่าวจะได้ปรับเปลี่ยนการ ดำเนินชีวิตของตนให้อยู่ห่างไกลจากโรคอันแสนจะน่ารำคาญนี้   

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.gerdthai.com และ http://www.si.mahidol.ac.th/ent/Articles/general005.html
รูปภาพอาหารจาก "ร้านแก้มลิง" เสรีไทยซอย 9

 


  Last Update :  24 January, 2011