HOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรกHOME หน้าแรก
บทนำ
    
    
    
    
    
    
    







Google

 
ประเทศไทยที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้เป็นเมืองร้อนที่ยิ่งนับวันยิ่งทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้น ออกจาก ห้องแอร์ไปผจญกับอากาศภายนอกแต่ละทีเล่นเอาเหงื่อยไหลไคลย้อย   สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาติดตาม มาสำหรับใครบางคนก็คือ "กลิ่นตัว"  โดยเฉพาะผู้ที่ต้องออกแรงทำงานกลางแจ้งย่อมมีโอกาสที่จะ เกิดปัญหานี้ได้ง่ายกว่าผู้ที่ทำงานอยู่ในร่มหรืออยู่ในห้องแอร์ แต่ก็ไม่เสมอไป  "กลิ่นตัว" บางครั้งก็ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ติดอยู่ในตัวของคนๆนั้นมาตั้งแต่เกิด   "กลิ่นตัว" จึงเป็นปัญหาที่พบได้ในชีวิต ประจำวัน  เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่าสนใจ  

มี web หนึ่งซึ่งเป็นของ "งานการศึกษาต่อเนื่อง คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี"  ได้นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับ "โรคกลิ่นตัวเหม็น" นี้ มาเผยแพร่ เขียนโดย ศ.ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์ ที่ปรึกษาคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจตามที่ได้คัดลอกมา บางส่วน ดังต่อไปนี้ 

 
 

โรคกลิ่นตัวเหม็น (Fish-Malodor Syndrome )

คนเราแต่ละคนและแต่ละเชื้อชาติจะมีกลิ่นตัว เป็นลักษณะเฉพาะของคนนั้นๆ บางคนก็มีกลิ่นตัวค่อนข้างจะเป็นเสน่ห์ คือ กลิ่นตัวหอม น่าสูดดมในขณะที่อีกหลายคนจะมีกลิ่นตัวไม่สู้จะน่าคบหาสมาคมเท่าใดนัก เพราะมีกลิ่นตัวแรง แต่คนที่น่าสงสารที่สุดก็คือผู้ที่มีกลิ่นตัวเหม็นจนเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม ในปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบว่าคนที่มีกลิ่นตัวเหม็นมากๆ คล้ายกลิ่นของปลาเน่า คือคนที่เป็นโรค "Fish-Malodor Syndrome"ซึ่งมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังลูกหลานได้ด้วย โดยวิธีทางพันธุกรรมที่ชื่อว่า "Mendelianautosomal recessive transmission"

คนที่เป็นโรค   Fish-Malodor Syndrome (FOS )     หรือที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า  Primary
trimethylaminuria
  นั้น   นับว่าเป็นผู้ที่โชคร้ายมากเพราะเป็นที่รังเกียจของสังคมและบุคคลทั่วไปแม้กระทั่งในสมาชิกของครอบ ครัวตนเองคนเหล่านี้มักจะพยายามไปหาแพทย์  พระ  หรือแม้กระทั่งหมอผี  เพื่อที่จะทำให้กลิ่นตัวของตนเองทุเลาลง บางคนที่หมอทั้งหลายรักษาแล้วไม่หาย ก็อาจจะได้รับการอธิบายว่าชาติก่อนคงไปกระทำบาปอะไรไว้ต่างๆ นานา และบางคนที่ไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งไม่เข้าใจถึงพยาธิสภาพของการเกิดกลิ่นตัวเหม็นนี้ ก็อาจจะแนะนำให้ผู้โชคร้ายเหล่านี้รับประทานยาคลายเครียดยาคลายกังวล หรือยากล่อมประสาท ซึ่งเป็นที่น่าสลดใจมาก เพราะว่าหลังจากการรับประทานยาเหล่านี้เข้าไปแล้ว ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยมีสภาวะทางจิตไม่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้กลิ่นตัวเหม็นขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

 


 

ในสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักร ผู้ป่วยที่เป็น FOS คนหนึ่งๆ อาจจะต้องเสียค่ารักษาไปเป็นเงินถึงกว่าหนึ่งแสนดอลล่าร์ แต่ก็ยังไม่อาจทำให้อาการกลิ่นตัวเหม็นลดลง หลายคนมีอาการทางจิต และคิดสั้นถึงกระทั่งคิดจะฆ่าตัวตายก็มี สำหรับในประเทศทางแถบเอเซียนั้นอุบัติการณ์ของ FOS นั้นคงไม่น้อยไปกว่าร้อยละ 1 และก็ไม่ยากนักที่จะพบคนที่เป็นโรคนี้ในบ้านเราเพราะว่าในประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยชนชั้นหลายเผ่าพันธุ์ และการแต่งงานของประชาชนก็เป็นไปอย่างเสรี ไม่มีสิ่งใดกีดกั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่เกิดการกลายพันธุ์ของยีนส์ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ทำหน้าที่ควบคุมการเกิดโรคนี้

ผู้เขียนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องโรคกลิ่นตัวเหม็น หรือ FOS มามากว่า 15 ปีแล้ว โดยการกระตุ้นจาก Professor Robert L. Smith จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ในประเทศสหราชอาณาจักร และก็รู้สึกว่าจะเป็นผู้ที่โชคดี ที่ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารอันทรงเกียรติ และได้รับรางวัล "The 1998 Wellcome Trust Award for a Study of Rare Diseas"” จากกองทุน Wellcome Trust ของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้เขียนและประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้รับรางวัลนี้แล้ว ยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายในการประชุมระดับโลก เรื่อง “ การมีกลิ่นตัวเหม็นของร่างกาย (Fish-Malodor Syndrome )” เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งจัดขึ้นที่ National Institutes of Health (NIH ) เมือง Bethesda ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการวิจัยจาก NIH และกองทุน Wellcome Trust อีกด้วย

สาเหตุของการเกิดโรค

กลิ่นตัวของคนที่เป็นโรค FOS นั้นจะเหมือนกันกับกลิ่นของปลาเน่า ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็คือกลิ่นของสารเคมีชื่อ trimethylamine (TMA ) ที่ถูกกำจัดออกมาจากเหงื่อ ปัสสาวะ และน้ำคัดหลั่งของร่างกายเรานั่นเอง สาร TMA นี้เป็น metabolic product ของอาหารต่างๆ ที่เรารับประทานกัน และจะมีมากในอาหารประเภทไข่แดง เนื้อสัตว์ และถั่วหลายชนิด กล่าวโดยย่อก็คือเมื่อเรารับประทานอาหารดังกล่าวเข้าไป แบคทีเรียในทางเดินอาหารซึ่งมีอยู่มากกว่า 70 ชนิด ก็จะเปลี่ยนแปลงสารเคมีที่มีอยู่ในอาหาร 3 ตัวคือ choline,betaine และ carnitine ให้เป็น TMA ซึ่งก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายโดยผ่านทางกระแสเลือด

ในคนที่ไม่เป็นโรค FOS นั้น TMA ก็จะถูกเอนไซม์ของตับชื่อ flavin-containing monooxygenase ฟอร์มที่ 3 (FMO3 ) ทำลายด้วยการเปลี่ยนเป็นสารชื่อ TMA-0 (trimethylamine N-oxide ) ซึ่งเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดีและไม่มีกลิ่นเหม็นเลย แล้วก็ถูกขับออกร่างกายทางน้ำคัดหลั่งต่างๆ รวมทั้งในปัสสาวะด้วย แต่ในคนที่เป็นโรค FOS นั้น TMA จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเลยเพราะ FMO3 gene ของตับไม่สามารถสร้างเอนไซม์ตัวนี้ได้เพียงพอ อันเนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนั้น TMA จึงถูกกำจัดออกมาจากร่างกายในปริมาณที่มาก จึงทำให้ปัสสาวะ เหงื่อ และลมหายใจมีกลิ่นเหม็นมากคล้ายกลิ่นปลาเน่า ซึ่งทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้สามารถสรุปเป็นกลไกการเกิดโรคกลิ่นตัวเหม็นดังแสดงไว้ในรูปที่ 1

ยังมีอีกหลายสภาวะที่ทำให้ FMO3 ของร่างกายทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น ได้รับยาบางชนิด (steroids, TCAs, ranitidine ), โรคตับพิการ โรค Turner’s syndrome, Noonan’s syndrome หรือแม้กระทั่งในระหว่างการมีประจำเดือนของสตรี เป็นต้น

ที่ จริงแล้ว TMA นี้ไม่ใช่ตัวที่จะคุกคามการดำเนินชีวิตของคนเรา แต่มันก็สามารถทำให้คนที่เป็นโรค FOS นี้หลายรายพยายามที่จะหาวิธีรักษาและขจัดมัน เช่น การสูบบุหรี่จัดเพื่อจะบดบังกลิ่นเหม็นของ TMA การใช้ยาดับกลิ่น ใช้สมุนไพรหรือใช้น้ำหอม เป็นต้น บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่เข้าใจกลไกของการเกิดโรคกลิ่นตัวเหม็น ก็จะแนะนำวิธีการรักษาที่ผิดๆ เช่น ผ่าตัดต่อมเหงื่อ ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ผ่าตัดมดลูก หรือให้รับประทานยาจำพวก benzodiazepines เข้าไปเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ผลเลย ยิ่งกว่านั้นยากล่อมประสาทและยาคลายเครียดทั้งหลาย ยังให้ผลร้ายแก่ผู้ที่มีกลิ่นตัวเหม็นเหล่านี้อีกด้วย กล่าวคือทำให้กลิ่นตัวเหม็นมากขึ้น เพราะมันไปยับยั้งการทำงานของ FMO3 ซึ่งยังส่งผลให้ระดับของ TMA ในร่างกายสูงมากขึ้นด้วย

วิธีวินิจฉัย

โดยทั่วไปคนปกติจะกำจัด TMA ออกมาทางปัสสาวะโดยเฉลี่ยวันละ 30-50 มิลลิกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาหารที่รับประทาน แต่ปริมาณของ TMA นี้จะนำมาใช้เป็นตัวกำหนด บอกว่าใครเป็นโรค FOS คงไม่ได้ เพราะว่าค่าของมันในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงได้ง่ายสำหรับแต่ละคน

ดัชนีที่น่าจะเป็นตัวชี้บอกของโรคนี้ก็คือค่า metabolic ratio (MR ) ซึ่งได้แก่อัตราส่วน TMA/TMA-O ของสารทั้งสองตัวนี้ที่ถูกกำจัดออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งในคนปกติจะมีค่าน้อยกว่า 1.0 เสมอ แต่สำหรับคนที่เป็นโรค FOS ค่านี้ก็จะสูงมากกว่า 1.0 เสมอเช่นกัน อาจจะสูงถึง 5.0-6.0 ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เพราะในคนปกติ TMA จะถูกเอนไซม์ FMO3 ของตับทำลายเกือบร้อยละ 100 จึงทำให้ค่า MR ต้องน้อยกว่า 1.0 เสมอ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี นอกจากจะใช้ค่า MR สำหรับการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังต้องซักประวัติและตรวจสอบกลิ่นตัวของผู้ป่วยโดยการดมด้วยจมูกโดยตรงอีกด้วยเพราะบางคนอาจมีกลิ่นตัวเหม็นไม่มาก ทั้งๆที่มี MR ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยอาจจะมีการรักษาและดูแลอนามัยของตนเองดีมาก แต่ถ้าจะให้แน่นอนแล้วจะต้องทำ genotyping test เพื่อยืนยัน โดยพบว่า mutation เกิดขึ้นที่ exon ใด exon หนึ่งในโครโมโซมคู่ที่ 1 เช่น มี missense mutationPro153Leu เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคนี้รายหนึ่ง เป็นต้น

วิธีการรักษา

เป็นที่น่ายินดีว่าในขณะนี้มีวิธีการรักษา FOS ที่ถูกหลักวิชาการ กล่าวคือพยายามลดอาหารที่มี choline สูงเพราะสารตัวนี้จะถูกแบคทีเรียในทางเดินอาหารเปลี่ยนไปเป็น TMA แล้วถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ตัวอย่างอาหารดังกล่าว เช่น ปลาเค็ม เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ไข่แดงและถั่ว เป็นต้น (ตารางที่ 1 ) การรักษาอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ยาปฎิชีวนะ เช่น metronidazole (Flagyl ) เพื่อไปยับยั้งการทำงานของแบคทีเรียดังกล่าว แต่วิธีนี้อาจจะเสี่ยงต่อการแพ้ยา หรือการเกิดผลข้างเคียงอันเกิดจากการใช้ยา (ตารางที่ 2 ) สำหรับวิธีที่ดีที่สุดที่หลายสถาบันกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ก็คือการตัดต่อยีนส์ (gene therapy ) เพื่อเร่งให้ร่างกายสามารถผลิต FMO3 ให้ทำงานได้เช่นปกติ

ตารางที่ 1 ตัวอย่างของอาหารบางอย่างที่มี choline สูงและผู้ที่เป็นโรค FOS ควรหลีกเลี่ยง

ชนิดอาหาร

Choline (มิลลิกรัม)

ไข่แดง (1 ฟอง)

260

ตับหมู (3.5 ออนซ์)

244

แฮม (1 ชิ้น)

324

ปลาทูน่า (3 ออนซ์)

210

ถั่ว (1 ถ้วย)

337

เต้าเจี้ยว (1 ถ้วย)

562

ตารางที่ 2 วิธีการรักษาโรคกลิ่นตัวเหม็น


1.พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มี choline สูงๆ เช่น ไข่แดง ตับหมู ถั่ว และทุเรียน เป็นต้น
2.ใช้ยาปฎิชีวนะ :metronidazole (Flagyl )

ขนาดของยา
250 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเป็นเวลา 2 สัปดาห์
หรือรับประทานครั้งเดียว 2 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์

ข้อควรระวัง
เมื่ออาการกลิ่นตัวทุเลาลงแล้วให้หยุดยาไว้ก่อน จนกว่าอาการกลิ่นตัวเหม็นจะกลับมาอีก จึงจะรับประทานยาซ้ำอีก แต่ไม่ควรรับประทานยานี้ติดต่อกันเกิน 3 เดือน เพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงของยาได้

ผลข้างเคียง
คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ แต่อาการเหล่านี้เกิดขึ้นน้อย

3.ใช้การตัดต่อยีนส์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นทดลอง


จากการศึกษาระดับลึกซึ้งถึงโมเลกุล โดยนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พบว่ายีนส์ (gene ) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการสร้างเอนไซม์ FMO3 ของตับนั้นอยู่ที่โครโมโซมคู่ที่ 1 และการที่เอนไซม์ตัวนี้ทำงานไม่ได้ก็เพราะมีการกลายพันธุ์ของยีนส์ที่เรียกว่า missense mutation ในหลายตำแหน่งของยีนส์ จากการศึกษาในผู้ป่วยไทยที่เป็นโรค FOS ก็พบว่าเกิดการกลายพันธ์ดังกล่าวขึ้นกับยีนส์ FMO3 ด้วยเหมือนกัน แต่ตำแหน่งของยีนส์ที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยไทยชุดแรก 5 คนที่ได้ทำการทดลองนั้นกระจัดกระจายไปทั่วทั้งเกือบทุก exon ของยีนส์ FMO3 ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 9 exons

การรักษาผู้ป่วย FOS ให้หายขาดจากโรคนี้คงไม่ใช่โดยวิธีการควบคุมอาหาร การฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร หรือด้วยการใช้ยาชนิดใดก็ตามคงต้องเป็นวิธีการตัดต่อยีนส์ หรือ gene therapy ซึ่งก็ไม่น่าที่จะไกลเกินฝันเพราะในขณะนี้ Human Genome Project เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว

สรุป

โรคกลิ่นตัวเหม็นเป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่งสามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้โดยวิธี Mendalian autosomal recessive transmission ผู้ที่เป็นโรคนี้มีทั้งหญิงและชายโดยไม่จำกัดเพศ อาการที่เห็นได้ชัดคือมีกลิ่นตัวเหม็นเหมือนปลาเน่า ลมหายใจและน้ำลายมีกลิ่นไม่พึงประสงค์นี้เช่นกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะประสบกับปัญหาของชีวิตหลายอย่าง เช่น ปัญหาทางครอบครัวปัญหาเกี่ยวกับการเป็นที่รังเกียจของสังคมรวมทั้งญาติพี่น้อง เป็นต้น และในที่สุดก็จะกลายเป็นคนที่มีปัญหาทางอารมณ์ คือ มีความเครียด กลุ้มใจ และซึมเศร้า ซึ่งบางรายอาจจะถึงกับคิดจะฆ่าตัวตาย ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่ไม่น่าจะน้อยกว่าร้อยละ 1 และสำหรับประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเอเซียก็อาจจะมีผู้ป่วยโรคนี้มากถึงร้อยละ 4 ของจำนวนประชากร

ในปัจจุบันวิธีการรักษาโรคนี้ก็ยังไม่สามารถจัดการที่สาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนส์ FMO3 ของเซลล์ตับ จะทำได้ก็เพียงใช้ยาปฎิชีวนะชื่อ metronidazole (Flagyl ) ไปยับยั้งการทำงานของแบคทีเรียในทางเดินอาหาร หรือหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของ TMA แต่จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทางพันธุกรรมอย่างรวดเร็วดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็อาจจะมีผู้ค้นพบวิธีรักษาโรคนี้ได้โดยวิธีที่ชื่อ gene therapy ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่สนใจกันเป็นอย่างมากของนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://ramacme.ra.mahidol.ac.th/th/?q=node/20

 



Last Update :  24 January, 2011